พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น
Risk-taking
Behaviors in Adolescence
ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
บทนำ
พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น
คือพฤติกรรมที่นำมาหรือเป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินชีวิต
ทำให้ร่างกายเป็นอันตราย สูญเสียหน้าที่ ขาดโอกาสพัฒนาตามปกติ หรือเสียชีวิต
วัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเสี่ยงมาก เนื่องจากจิตใจวัยนี้ต้องการความสนุกสนาน ตื่นเต้น
ท้าทาย ต้องการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น อยากรู้อยากเห็นอยากลอง
มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น แต่ยังขาดการยั้งคิด ไตร่ตรอง และการควบคุมตนเอง
การเข้าใจและหาทางป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
และจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรมและผลเสียหายที่จะเกิดตามมา
ประเภทของพฤติกรรมเสี่ยง
พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น แยกเป็นประเภทต่างๆดังนี้
1. พฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ(unintentional
injuries) ได้แก่
การร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
การไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัย(ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
เมาในขณะขับรถ ฯลฯ)
2. พฤติกรรมความรุนแรง(violence)
ได้แก่
การเข้าร่วมกลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การพกพาอาวุธ
ทำลายข้าวของสาธารณะ
3. ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย(depression
and suicidal idea)
4. การใช้ยาเสพติด(drug abuse)
ได้แก่ การลองและใช้ยาเสพติด
บุหรี่ เหล้า หรืออยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ใช้ยาเสพติด
5. พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์(sexual
behaviors) ได้แก่
เริ่มต้นจากการมีแฟนเร็วเกินไป การเริ่มมีสัมผัสแตะเนื้อต้องตัว กอดจูบ
อยู่กันตามลำพัง
และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในวัยกลางคน(myocardial
infarction) ได้แก่
การรับประทานอาหารไขมันสูง อ้วน ขาดการออกกำลังกาย
การซักประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง
ในวัยรุ่นการซักประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง
จะช่วยให้ประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ โดยใช้หัวข้อ
HEEADSSS
ดังนี้
1. H – Home
ครอบครัว ที่อยู่อาศัย ชุมชนแวดล้อม
ความปลอดภัยในบ้าน
2. E – Education/Employment
การเรียน การทำงาน
เป้าหมายอาชีพและความหวังในชีวิต
3. Eating –
พฤติกรรมการกิน มากหรือน้อยเกินไป
ไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดอาหาร ผอมเกินไปหรือเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน
4. Activities and friends
– กิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกาย งานอดิเรก
กิจกรรมที่สนุกและเพลิดเพลินคลายเครียด เพื่อนและเพื่อนสนิท กิจกรรมที่ทำร่วมกัน
พฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเพื่อน
5. Drugs abuse –
การลองใช้ยาเสพติด การใช้เหล้าบุหรี่
หรือยาอื่นๆที่แพทย์มิได้สั่ง
6. Sexual activities –
พฤติกรรมทางเพศ ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation)
เอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity)
พฤติกรรมรักร่วมเพศ การมีเพศสัมพันธ์
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกันการตั้งครรภ์
7. Safety/violence/abuse
พฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
และความรุนแรง การป้องกันอุบัติเหตุในการใช้ยานพาหนะ(สวมหมวกกันน็อค,คาดเข็มขัดนิรภัย
ฯลฯ) การชกต่อยใช้อาวุธ การพกพาอาวุธ ความรุนแรงในครอบครัว การทารุณกรรม
การละเมิดทางเพศ
8. Suicidal idea
ความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้
เบื่อชีวิต ความคิดอยากตาย การพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง
สาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยง
สาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่น เกิดจากปัจจัยทางจิตใจและสังคม ดังนี้
1. ขาดความรู้และทักษะ ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับวัยรุ่น ได้แก่
ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อันตรายและความเสี่ยงต่างในการดำเนินชีวิต
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ การจัดการอารมณ์เพศตนเอง การแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิต
การปฏิเสธ การมีกิจกรรมที่เป็นสุขเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
2. ขาดความตระหนัก
วัยรุ่นที่มีความรู้และทักษะในการป้องกันความเสี่ยง
แต่ยังขาดความตระหนักและจริงจังต่อการป้องกันตนเอง เห็นประโยชน์ของการป้องกัน
และเห็นโทษหรือพิษภัยจากพฤติกรรมเสี่ยง
จนใช้เป็นหลักในจิตใจที่จะไม่ทำพฤติกรรมนั้น
3. ขาดการควบคุมตนเอง
ความรู้ ทักษะและความตระหนัก
อาจไม่ช่วยป้องกันความเสี่ยง ถ้าวัยรุ่นไม่มีการควบคุมตนเองดีเพียงพอ
อาจคล้อยตามเพื่อนหรือสิ่งแวดล้อมได้
เหล้าและยาเสพติดเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตใจเสียการควบคุมตนเอง
อาจทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงได้
4. ขาดวิธีการที่ทำให้ตนเองพึงพอใจที่ถูกต้อง
วัยรุ่นต้องการกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองเกิดความพึงพอใจ ความสุข
แต่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับได้ วัยรุ่นที่มีจุดเด่น
เป็นที่ยอมรับของเพื่อนด้านบวกอยู่แล้ว(เช่น การเรียน กีฬา ดนตรี ฯลฯ)
จะไม่แสวงหากิจกรรมด้านลบที่อาจเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
5. ปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ หรือโรคทางจิตเวช ทำให้ขาดความสุข เก็บกดความทุกข์ใจ
ความก้าวร้าว หรือเคยโดนกระทำทารุณทางกายหรือทางเพศ
จะแสดงออกเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อชดเชย ปิดบัง
หรือระบายอารมณ์เป็นพฤติกรรมเสี่ยง เช่น
การใช้ยาเสพติดเพื่อลดความเครียดหรืออารมณ์เศร้า
6. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ทัศนคติและแบบอย่างในครอบครัว ความเป็นสุขของครอบครัว
อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน การต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อน และสังคม
การชักจูงใจจากแฟชั่น ดารานักร้อง การโฆษณา ค่านิยมทางวัตถุนิยม
การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น
การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่น
ทำได้โดยลดปัจจัยสาเหตุ และเพิ่มปัจจัยป้องกัน และจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
ดังนี้
1. การให้ความรู้ ที่จำเป็นสำหรับวัยรุ่น ได้แก่ การเลี่ยนแปลงตนเองในวัยรุ่น
ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อันตรายและความเสี่ยงต่างในการดำเนินชีวิต
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ
2. การฝึกทักษะ
ในการรู้จักอารมณ์และความคิดตนเอง จัดการกับอารมณ์ได้ จัดการอารมณ์เพศตนเอง
การแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิต การปฏิเสธ
การมีกิจกรรมที่เป็นสุขเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
3. สร้างความตระหนักในการป้องกันความเสี่ยง จริงจังต่อการป้องกันตนเอง
เห็นประโยชน์ของการป้องกัน และเห็นโทษหรือพิษภัยจากพฤติกรรมเสี่ยง
จนใช้เป็นหลักในจิตใจที่จะไม่ทำพฤติกรรมนั้น
4. ฝึกการควบคุมตนเอง
ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง
การรู้จักจิตใจตนเองและควบคุมได้ รู้จักยั้งคิด
ฝึกระเบียบวินัยที่มาจากภายในใจตนเอง
ฝึกการปฏิเสธเหล้าและยาเสพติดเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตใจเสียการควบคุมตนเอง
5. ช่วยให้วัยรุ่นมีกิจกรรมที่ทำให้ตนเองพึงพอใจที่ถูกต้อง
วัยรุ่นต้องการกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองเกิดความพึงพอใจ ความสุข
แต่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับได้ วัยรุ่นที่มีจุดเด่น
เป็นที่ยอมรับของเพื่อนด้านบวกอยู่แล้ว
จะไม่แสวงหากิจกรรมด้านลบที่อาจเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
6. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี พ่อแม่เป็นแบบอย่าง มีทัศนคติที่ดีต่อลูก
แสวงหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ครอบครัวมีความสุข
ทัศนคติดีต่อการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ส่งเสริมกลุ่มเพื่อนที่ดี
ให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ครอบครัว ชุมชน และสังคม
เอกสารอ้างอิง
1.
CDC. Youth Risk
Behavior Surveillance - - United States,1997,August 14,1998/47(SS-3);1-89.
http://www.cdc.gov/nccdphp/dash/MMWRFile/ss4703.htm
2.
American Academy of
Pediatrics. Committee of School Health. School health assessment. Pediatrics.
2000;105:875-97.
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น