วิชากฎหมายที่ประชาชนควรรู้

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา สพม.เขต 16

หน่วยการเรียนรู้ที่ 7 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  

หลักกฎหมายแพ่ง

                   สรุปหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หลักทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิและการใช้สิทธิ
1.ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต (มาตรา 5)
2. ถ้ามิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (มาตรา 7)
3. ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี ทำลงในเอกสาร ถ้าไม่ได้ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนแล้ว เสมอกับลงลายมือชื่อ (มาตรา 9)
4. การลงจำนวนเงินในเอกสารด้วยตัวอักษรและตัวเลข ถ้าไม่ตรงกันและมิอาจทราบเจตนาที่แท้จริงได้ ให้ใช้จำนวนเงินที่เขียนเป็นตัวอักษรเป็นประมาณ ถ้าไม่ตรงกันหลายแห่ง ให้เอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ (มาตรา 12 , 13 )
5. ถ้าเอกสารทำไว้สองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่งด้วย หากมีความแตกต่างกันและไม่อาจทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับ ให้ใช้ภาษาไทยบังคับ (มาตรา 14)

บุคคล   บุคคลมี  2  ประเภท ได้แก่

1. บุคคลธรรมดา
สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด และอยู่รอดเป็นทารก
  การคลอดนั้นหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัวแล้ว แม้จะยังไม่ตัดสายสะดือ และต้องรอดอยู่ด้วย แม้เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวก็มีสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดก เช่น อาจรับมรดกของบิดาซึ่งตายก่อนเด็กคลอดได้ เป็นต้น (มาตรา 15)

ภูมิลำเนาของบุคคล มีหลักตามกฎหมายดังนี้
1. ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ (ม.37)
2. ถ้าบุคคลมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกัน หรือมีแหล่งที่ทำมาหากินเป็นปกติหลายแห่ง ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น (ม. 38)
3. ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา (ม.39)
4. ถ้าไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ หรือไม่มีที่ทำการงานเป็นหลักแหล่ง ถ้าพบตัวในถิ่นไหนก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 40)
5. บุคคลอาจแสดงเจตนากำหนดภูมิลำเนา ณ ถิ่นใดเพื่อกระทำการใด ก็ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการนั้น (ม. 42)
6. ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ กฎหมายให้ใช้ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือของผู้อนุบาล (ม.44,45)
7. ข้าราชการ ภูมิลำเนาได้แก่ถิ่นที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่อยู่ประจำ ถ้าเป็นเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวไม่ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 46)
8. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (ม. 47)
*** การเปลี่ยนภูมิลำเนากระทำได้โดยการแสดงเจตนาว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาและย้ายถิ่นที่อยู่ (ม. 41)

ความสามารถของบุคคล


     โดยทั่วไปเมือคนเรามีสภาพบุคคลแล้วก็จะมีสิทธิและสามารถใช้สิทธิที่มีของตนได้โดยลำพัง แต่มีข้อจำกัดการใช้สิทธิของคนบางจำพวกเอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอื่น ๆ
บุคคลดังกล่าวได้แก่
      1. ผู้เยาว์ 
      2. คนไร้ความสามารถ 
      3. คนเสมือนไร้ความสามารถ

1. ผู้เยาว์  คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ม. 19)  หรือบรรลุด้วยการ
-ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.20) สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรส (ม. 1448) จำไว้ว่า “บรรลุแล้วบรรลุเลย”
    ดังนั้นหากผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะและผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นๆ เป็นโมฆียะ คืออาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง (ม.21)
    ยกเว้นผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมบางอย่างได้โดยลำพังโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ
1. ทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25)
2. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว (ม. 22) เช่น รับการให้โดยไม่มีข้อผูกพัน
3. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัว (ม. 23) เช่น การรับรองบุตร กรณีตาม มาตรา 1548
4. นิติกรรมที่สมควรแก่ฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามควร (ม.24)
5. เมื่อผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ประกอบการค้า (ม.27)

2. คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ (ม. 28) และจัดให้อยู่ในความอนุบาล นิติกรรมที่คนไร้ความสามรถกระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น แม้จะได้รับความยินยอมจาก “ผู้อนุบาล” ก็ไม่ได้
(ม. 29)
       ส่วนคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากไปทำนิติกรรม ย่อมต้องถือว่ามีผลสมบูรณ์ เว้นแต่ว่า ได้กระทำในขณะจริตวิกล + คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆียะ (ม.30)

3. คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะมีกายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา เมื่อคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยให้อยู่ใน “ความพิทักษ์” ก็ได้ (ม. 32)

การสิ้นสภาพบุคคล
  1. ตาย (ม.15)  ตายคือการสิ้นชีวิต
  2. สาบสูญ (โดยผลของกฎหมาย) ได้แก่
      2.1 บุคคลไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรตลอดระยะเวลา 5 ปี (ม.61 วรรคแรก)
      2.2 บุคคลไปทำการรบหรือสงคราม หรือตกไปอยู่ในเรือเมื่ออับปราง หรือตกไปในฐานะที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตประการอื่นใด หากนับแต่เมื่อภยันตรายประการอื่นๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้วนับได้เวลาถึง 2 ปี ยังไม่มีใครทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร (ม.61 วรรคสอง)

2. นิติบุคคล   นิติบุคคลเกิดขึ้นตามกฎหมาย เช่น
    1. ทบวงการเมือง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล เทศบาลและสุขาภิบาลทั้งหลาย กรมตำรวจ กองทัพบก/เรือ/อากาศ แต่กรมในกองทัพนั้นไม่เป็นนิติบุคคล
    2. วัดวาอาราม เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่าเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ส่วนถ้าเป็นมัสยิดหรือวัดของศาสนาคริสต์ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงจะเป็นเจ้าของที่ดินได้
    3. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว / บริษัทจำกัด / สมาคม และมูลนิธิ ส่วนสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้ามาประกอบการในประเทศไทยก็เป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับนิติบุคคลในประเทศนั้น แม้นิติบุคคลในต่างประเทศนั้นจะมิได้มาจดทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม เมื่อนิติบุคคลดังกล่าวได้เป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศนั้นๆ แล้ว

ทรัพย์


☺ ความหมาย
-ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง (ม.137)
-ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ (ม. 138)

 ☺ ประเภทของทรัพย์

1.อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น
   1.1 ที่ดิน หมายถึง พื้นแผ่นดิน รวมตลอดถึง ภูเขา เกาะ และที่ชายทะเลด้วย
   1.2 ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
   1.3 ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
   1.4 สิทธิอันเกี่ยวกับ 1.1, 1.2 และ 1.3 อันได้แก่ สิทธิในกรรมสิทธิ์ (ม.1336), สิทธิครอบครอง (ม.1367), สิทธิจำนอง, สิทธิเก็บกิน (ม.1417) ภาระจำยอม (ม.1387) เป็นต้น
2. สังหาริมทรัพย์ ได้แก่
   2.1 ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์
   2.2 สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง เป็นต้น

3. ทรัพย์แบ่งได้ (ม.141) ได้แก่ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้ โดยยังคงสภาพเดิมอยู่
4. ทรัพย์แบ่งไม่ได้ (ม.142) ได้แก่
    4.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสภาพ เช่น บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
    4.2 ทรัพย์ที่กฎหมายถือว่าแบ่งไม่ได้ เช่น หุ้นของบริษัท ส่วนควบของทรัพย์ เป็นต้น

5. ทรัพย์ในพาณิชย์ ได้แก่ทรัพย์ทั่ว ๆไป
6. ทรัพย์นอกพาณิชย์ (ม.143) ได้แก่
    5.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจถือเอาได้ เช่น ก้อนเมฆ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น
    5.2 ทรัพย์ที่ไม่อาจโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ที่ดินธรณีสงฆ์ ยาเสพติด เป็นต้น

☺ ส่วนประกอบของทรัพย์
   1. ส่วนควบ (ม.144) ได้แก่ ส่วนซึ่งว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป ข้อยกเว้นในเรื่องส่วนควบมีดังนี้ (ม.145, 146)
       1.1 ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ
       1.2 ทรัพย์อันติดกับที่ดิน หรือโรงเรือนชั่วคราว
       1.3 โรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธิปลูกทำลงไว้
   2. อุปกรณ์ (ม.147) ได้แก่ สิ่งที่ใช้บำรุงดูแลรักษาทรัพย์ประธาน และสามารถแยกออกจากทรัพย์ประธานได้โดยไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ต่างจากการเป็นส่วนควบ

   3. ดอกผล คือ ผลประโยชน์ที่ได้งอกเงยจากทรัพย์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเองโดยสม่ำเสมอ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (ม.148)
      3.1 ดอกผลธรรมดา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม เช่น ผลไม้ น้ำนม ขนสัตว์ และลูกของสัตว์ เป็นต้น
      3.2 ดอกผลนิตินัย ซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล ฯ
บุคคลสิทธิและทรัพย์สิทธิ

☺ “บุคคลสิทธิคือ สิทธิหรือบุคคลที่จะบังคับให้กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้ ได้แก่สิทธิต่างๆ ที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาได้จากลูกหนี้นั่นเอง
☺ “ทรัพย์สิทธิ คือ สิทธิเหนือทรัพย์สิน สามารถบังคับได้โดยตรงเอากับตัวทรัพย์สินได้ ทรัพย์สิทธิ เกิดขึ้นได้ก็แต่อาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น ได้แก่ กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ (ม.1387-1434) เป็นต้น

☺ การได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิ
    1. ผลของนิติกรรม เช่น สัญญาซื้อขาย เป็นต้น
    2. ผลของกฎหมาย ได้แก่ การครอบครองปรปักษ์ / การได้รับมรดก / การรับรองลิขสิทธิ์ เป็นต้น

นิติกรรม


☺ หลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม (ม.149) นิติกรรมจะสมบูรณ์เมื่อเข้าองค์ประกอบต่อไปนี้
1) ต้องมีการแสดงเจตนา 2) ต้องกระทำโดยใจสมัคร 3) มุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย 4) เป็นการทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และ 5) ผู้ที่ทำนิติกรรมต้องมี “ความสามารถ” ในการทำนิติกรรมด้วย

☺ ประเภทของนิติกรรม
    1. นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม / การปลดหนี้ (ม.340) / การบอกเลิกสัญญา (ม.386) / โฆษณาจะให้รางวัล (ม.362 และ 365) เป็นต้น นิติกรรมฝ่ายเดียวนี้ มีผลตามกฎหมายแล้ว แม้จะยังไม่มีผู้รับก็ตาม
    2. นิติกรรมหลายฝ่าย คือ มีฝ่ายที่ทำคำเสนอและอีกฝ่ายทำคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็เกิดสัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย / สัญญาเช่า / สัญญาค้ำประกัน เป็นต้น

☺ ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม
   1. ความสามารถในการทำนิติกรรม กล่าวคือ ถ้านิติกรรมได้กระทำลงโดยผู้หย่อนความสามารถ คือ
       1.1) ผู้เยาว์ 1.2) คนไร้ความสามารถ 1.3) คนเสมือนไร้ความสามารถ 􀀨 เป็นโมฆียะ (ม.153)
  2. วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม
       2.1) เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ(ม.150)
       2.2) เป็นการพ้นวิสัย
       2.3) เป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  3. แบบแห่งนิติกรรม
      3.1) การทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนหนี้ (ม.306) / สัญญาเช่าซื้อ (ม.572) / สัญญาตัวแทนบางประเภท (ม.798) ถ้าตกลงเพียงวาจา สัญญานั้นเป็นโมฆะ
     3.2) การทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การคัดค้านตั๋วแลกเงิน (ม.961) / การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658) เป็นต้น ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมใช้บังคับไม่ได้
     3.3) การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ม. 456) / สัญญาขายฝาก (ม.491) / สัญญาจำนอง (ม.714) เป็นต้น ถ้าไม่ทำตามแบบ เป็นโมฆะ

4. การแสดงเจตนา

     4.1 เจตนาอย่างหนึ่งแต่แสดงออกอีกอย่างหนึ่ง นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง (ม.154) หรือ การแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ม.155) หรือนิติกรรมอำพราง (ม.155 ว.สอง)  เป็นโมฆะ
     4.2 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด
         (1) สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม
              - สำคัญผิดในประเภทของนิติกรรม
              - สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา
              - สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม
         (2) สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ ถ้าคุณสมบัติดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม กล่าวคือ ถ้ารู้ว่า บุคคลหรือทรัพย์ไม่ได้คุณสมบัติที่ต้องการ ก็คงไม่ทำนิติกรรมด้วย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 157)   เป็นโมฆะ(ม.156)
         (3) สำคัญผิดเพราะกลฉ้อฉล ได้แก่ การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้อุบายหลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อ แล้วเขาทำนิติกรรม ซึ่งถ้ามิได้ใช้อุบายหลอกเช่นว่านั้น เขาคงไม่ทำนิติกรรมด้วย 􀀨 นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 159)
         (4) การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 164) ถ้าการข่มขู่นั้นถึงขนาดที่ทำให้ผู้ถูกขู่กลัวจริงๆ แต่การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมก็ดี หรือความกลัวเพราะนับถือยำเกรงก็ดี ไม่ถือว่าเป็นการขู่ (ม.165)

ผลแห่งความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม

     -“โมฆะ” หมายถึง นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คือ เสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรมนั้นๆ เลย จะฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้ จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ (ม.172)
     -“โมฆียะ” หมายถึง นิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง (ม.176) ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในระยะเวลา ( 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม ม. 181) หรือมีการให้สัตยาบัน (ม.179) โดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ตลอดไป

สัญญา

☺ สาระสำคัญของสัญญา
    1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป
    2. ต้องมีการแสดงเจตนาต้องตรงกัน (คำเสนอ+คำสนองตรงกัน)
“คำเสนอ” เป็นคำแสดงเจตนาขอทำสัญญา คำเสนอต้องมีความชัดเจน แน่นอน ถ้าไม่มีความชัดเจน แน่นอน เป็นแต่เพียงคำเชิญชวน
“คำสนอง” คือ การแสดงเจตนาของผู้สนองต่อผู้เสนอ ตกลงรับทำสัญญาตามคำเสนอ คำสนองต้องมีความชัดเจน แน่นอน ปราศจากข้อแก้ไข ข้อจำกัด หรือข้อเพิ่มเติมใดๆ
3. ต้องมีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญา

☺ ประเภทของสัญญา

1. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน
“สัญญาต่างตอบแทน” ได้แก่ สัญญาที่ทำให้คู่สัญญาต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน
(ม. 369) กล่าวคือ คู่สัญญาต่างมีหนี้ หรือหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นการตอบแทน
“สัญญาไม่ต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อหนี้ฝ่ายเดียว เช่น สัญญายืม (ม.640, 650)
2. สัญญามีค่าตอบแทนกับสัญญาไม่มีค่าตอบแทน
3.สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์
“สัญญาประธาน” หมายถึง สัญญาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ขึ้นอยู่กับสัญญาอื่น
“สัญญาอุปกรณ์” นอกจากสัญญาอุปกรณ์จะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอีกด้วย กล่าวคือ ถ้าสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ สัญญาอุปกรณ์ย่อมไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน (ม.680) / สัญญาจำนอง (ม.702) / สัญญาจำนำ (ม.747)
4. สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โดยคู่สัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกนั้นไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วย เช่น สัญญาประกันชีวิต
5. เอกเทศสัญญาตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 กับสัญญาไม่มีชื่อ

☺ สิทธิในการบอกเลิกสัญญา

1. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
1.1 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.387)
1.2 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดหรือภายในระยะเวลาซึ่งกำหนดไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ก่อน
(ม.388)
1.3 เมื่อการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.389)
2. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หมายความว่า คู่สัญญาได้ตกลงกันกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ล่วงหน้า ถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ก็ให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่คู่กรณี

☺ ผลของการเลิกสัญญา

1. คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม (ม.391 วรรคหนึ่ง) เช่น
- ทรัพย์สินที่ได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่กันไปตามสัญญา ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอยู่เดิมขณะมีการส่งมอบหรือโอนไปตามสัญญา และถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะคืนได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายแทน
- หากทรพย์สินที่จำต้องส่งคืนนั้นเป็นเงินตรา กฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไปด้วย (ม.391 วรรคสอง) อัตราดอกเบี้ยนั้น ถ้ามิได้กำหนดเอาไว้ ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม.7)
- อย่างไรก็ตาม การเลิกสัญญาอันมีผลทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้ จะเป็นสาเหตุทำให้บุคคลภายนอกเสื่อมเสียสิทธิไม่ได้
2. การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าเสียหาย (มาตรา 391 วรรคท้าย)

หนี้

☺ ลักษณะสำคัญของหนี้ ต้องประกอบด้วย
1. การมีนิติสัมพันธ์ (ความผูกพันกันในทางกฎหมาย)
2. การมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ (สิทธิเหนือบุคคล)
3. ต้องมีวัตถุแห่งหนี้ (การกระทำ / งดเว้นกระทำการ / ส่งมอบทรัพย์สิน)
3.1 ทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการชำระหนี้ ได้ระบุไว้เป็นประเภทและตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณี ไม่อาจกำหนดได้ว่า ทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรแล้ว กฎหมายกำหนดให้ลูกหนี้ต้องส่งมอบชนิดปานกลาง (ม.195 วรรคหนึ่ง) เว้นแต่ หากเป็นกรณีที่อาจสันนิษฐานเจตนาของคู่กรณีได้แล้ว เช่น ในครั้งก่อนๆ นั้นได้ส่งมอบของชนิดที่ดีที่สุดเสมอมา ดังนี้ ลูกนี้จะส่งมอบชนิดปานกลางไม่ได้
3.2 วัตถุแห่งการชำระหนี้เป็นเงินตรา ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ จะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ การแลกเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน (ม.196)
3.3 กรณีวัตถุแห่งการชำระหนี้มีหลายอย่าง โดยหลักกฎหมาย ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะเลือก
(ม.198)
วิธีเลือกนั้น ให้ทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง (ม.199 วรรคหนึ่ง) และต้องแสดงเจตนาเลือกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย ถ้าไม่เลือกภายในเวลาที่กำหนด สิทธิที่จะเลือกนั้นก็จะตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง (ม. 200 ว.หนึ่ง)
- ในกรณีที่กำหนดให้บุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิเลือก บุคคลภายนอกต้องแสดงเจตนาเลือกต่อลูกหนี้ และลูกหนี้ต้องแจ้งความนั้นแก่เจ้าหนี้ แต่ถ้าบุคคลภายนอกไม่ประสงค์จะเลือกหรือไม่เลือกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ สิทธิเลือกนั้นย่อมตกแก่ฝ่ายลูกหนี้ (ม.201)
- ในกรณีที่การอันพึงต้องชำระหนี้มีหลายอย่าง และอย่างใดอย่างหนึ่งตกเป็นอันพ้นวิสัยที่จะกระทำได้มาตั้งแต่ต้น หรือกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลัง ให้จำกัดการชำระหนี้นั้นไว้เพียงการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่พ้นวิสัย แต่การจำกัดหนี้ในกรณีเช่นนี้ไม่อาจใช้บังคับได้ หากว่าการชำระหนี้ที่กลายเป็นพ้นวิสัยนั้น เกิดขึ้นเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่ไม่มีสิทธิเลือกนั้นต้องรับผิดชอบ (ม.202)

☺ บ่อเกิดแห่งหนี้
1. นิติกรรม-สัญญา
2. นิติเหตุ หมายถึง เหตุที่มิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาเข้าผูกพันตนเพื่อก่อหนี้ แต่กฎหมายเป็น
กำหนด ซึ่งอาจเป็นเหตุธรรมชาติ หรือ อาจเป็นเหตุที่ก่อขึ้นโดยการกระทำของบุคคล โดยเขามิได้มุ่งให้มีผลในกฎหมาย แต่กฎหมายก็กำหนดให้ต้องมีหนี้หรือหน้าที่ต่อบุคคลอื่น ได้แก่
2.1 ละเมิด (ม.420) 2.2 จัดการงานนอกสั่ง (ม.395, 401) 2.3ลาภมิควรได้ (ม.406)
2.4 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ม.1563)

☺ การบังคับชำระหนี้
1. กำหนดชำระหนี้ ถ้าเป็นกรณีที่คู่กรณีไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว กฎหมาย ถือว่า หนี้นั้นถึงกำหนดชำระโดยพลัน (ม. 203)
2. การผิดนัดของลูกหนี้
2.1 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว (ม. 204 วรรคหนึ่ง)

2.2 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามวันแห่งปฏิทินแล้ว และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โดยมิต้องเตือนก่อนเลย (ม. 204)
2.3 ถ้าเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด (ม. 206)

☺ ผลของการที่ลูกหนี้ผิดนัด
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้นได้ (ม.215)
2. ถ้าโดยเหตุที่ผิดนัดนั้น ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับการชำระหนี้นั้น และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ (ม. 216)
3. ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างผิดนัดด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงอย่างไรก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ดีถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันกำหนดเวลา (ม.217)
4. ในระหว่างผิดนัด ถ้าไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีของหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม. 224)

☺ ข้อแก้ตัวของลูกหนี้ ถ้าการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ก็ยังหาได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด (ม.205)

☺ การผิดนัดของเจ้าหนี้
1. ถ้าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้น โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ม.207)
2. ในกรณีของสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมือเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่พึงต้องทำแล้ว เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด (ม.210)
- เหตุแห่งความผิดนัดในข้อนี้ เนื่องมาจากหนี้อันเกิดจากสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ (ม.369)

☺ ผลของการที่เจ้าหนี้ผิดนัด
1. ปลดเปลื้องความรับผิดในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุชำระหนี้ล่าช้า
2. ปลดเปลื้องความรับผิดในกรณีที่การชำระหนี้นั้นกลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้
3. ปลดเปลื้องความรับผิดในความเสียหายอย่างใดๆ ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้น
4. ปลดเปลื้องความรับผิดในดิกเบี้ยสำหรับกรณีที่เป็นหนี้เงิน

☺ ข้อแก้ตัวของเจ้าหนี้
1. ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น (ไม่ว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะรับชำระหนี้นั้นหรือยัง) หากลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้จริงๆ เจ้าหนี้ก็หาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.211)
2. ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หรือลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.212)

☺ การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
1. ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
(ม.218)
กรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน และส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นเป็นอันไร้ประโยชน์

แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้นั้น และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้ (ม.218 วรรคสอง)
2. ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น (ม. 219 วรรคสอง)
ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ ก็ให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัย (ม.219 วรรคสอง)

☺ ความรับผิดของลูกหนี้เพื่อคนที่ตนใช้ในการชำระหนี้
ลูกหนี้สามารถตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นตัวแทนในการชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต้สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือขัดต่อเจตนาที่คู่กรณีตกลงกันไว้ (ม.314) เมื่อลูกหนี้ได้มอบหมายให้ตัวแทนจัดการชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของบุคคลที่ลูกหนี้มอบหมายนั้นเสมือนกับว่าเป็นความผิดของตนเอง
(ม.220)

☺ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้
ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ หากลูกหนี้ไม่ชำระ เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องร้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับคดีให้ โดยการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย (ม.214)

☺ การบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจง
หากลูกหนี้ละเลยไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ การบังคับชำระหนี้นี้ จะกระทำไม่ได้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ (ม.213 วรรคหนึ่ง)
ในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันใดอันหนึ่ง เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้บังคับบุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายแทนก็ได้ (ม.213 วรรคสอง) และในกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ศาลอาจสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้
ในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นการให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้น โดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้ (ม.213 วรรคสาม)

☺ การควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้
1.การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (ม. 233)
1.1 ลูกหนี้ต้องขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง
1.2 การที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยนั้น เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์
1.3 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะเข้าใช้แทนลูกหนี้ ต้องมิใช่การส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้
2. การเพิกถอนกลฉ้อฉล (ม.237)
2.1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันมีผลเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ให้แก่บุคคลอื่น
2.2 การกระทำนิติกรรมดังกล่าวนั้น ลูกหนี้รู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
2.3 ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงไป เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกจากการทำนิติกรรมนั้นได้รู้ความจริงด้วยว่าเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ถ้าเป็นการที่ลูกหนี้ทำให้โดยเสน่หาแล้ว เพียงแต่ลูกหนี้รู้ถึงการฉ้อฉลนั้นฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
3. การรับช่วงสิทธิ ถ้ามีบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นฝ่ายในมูลหนี้มาแต่เดิม แต่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ อาจเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการเข้ามาใช้หนี้แทนลูกหนี้ได้ และโดยผลของกฎหมายบุคคลภายนอกนั้นก็จะเป็นผู้เข้ามาสวมตำแหน่งเป็นเจ้าหนี้แทนต่อไป เรียกว่า “การรับช่วงสิทธิ” (ม.226)
4. การโอนสิทธิเรียกร้อง คือ ข้อตกลงซึ่งเจ้าหนี้เรียกว่า “ผู้โอน” ยินยอมโอนสิทธิของตนอันมีต่อลูกหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกเรียกว่า “ผู้รับโอน” เฉพาะเจ้าหนี้เท่านั้นที่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องของตนให้บุคคลภายนอกได้ ส่วนลูกหนี้นั้นจะโอนหนี้ของตนให้บุคคลภายนอกไม่ได้ (ม.303)
- สิทธิเรียกร้องที่โอนไม่ได้
1) สภาพของสิทธินั้นไม่เปิดช่องให้โอน (ม.303 วรรคหนึ่ง)
2) สิทธิเรียกร้องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาห้ามโอนกัน แต่การแสดงเจตนาเช่นว่านี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้ (ม.303 วรรคสอง)
3) สิทธิเรียกร้องใดที่ตามกฎหมาย ศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นย่อมโอนกันไม่ได้ (ม.304) สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีหรือไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
- แบบของการโอนสิทธิเรียกร้อง
1) ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นการโอนจะไม่สมบูรณ์
2) จะยกการโอนขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ ต่อเมื่อ
ก. บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ หรือ
ข. ให้ลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนเป็นหนังสือ

☺ ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน
ผลแห่งการเป็นลูกหนี้ร่วม มีดังนี้
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง (ม.291)
2. การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้ ย่อมได้ประโยชน์แก่ลูกหนี้อื่นๆ ด้วย (ม.292)
3. การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมคนใด ย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้ (ม.293)
4. การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งนั้นย่อมได้ประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ ด้วย (ม.295)
5. การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วม ย่อมไม่มีผลไปถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่น (ม.295 วรรคหนึ่ง)
6. ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ม.296)
ผลแห่งการเป็นเจ้าหนี้ร่วม มีดังนี้
1. การที่เจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งผิดนัดนั้น ย่อมเป็นโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆ ด้วย (ม.299 วรรคหนึ่ง)
2. ถ้าสิทธิเรียกร้องและหนี้สินเป็นอันเกลื่อนกลืนกันไปในเจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง สิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆ อันมีต่อลูกหนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป (ม.299 วรรคสอง)
3. เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้หรือปฏิบัติการอย่างอื่นต่อเจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งอันมีผลให้หนี้ระงับสิ้นไปแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้นั้นไป (ม.299 วรรคสาม)
4. เมื่อเจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว ย่อมเป็นโทษแก่เจ้าหนี้ร่วมคนอื่นเท่าส่วนที่ได้ปลดหนี้ให้นั้น (ม.299 วรรคสาม)
5. ในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้น เจ้าหนี้แต่ละคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ม.300)

☺ ความระงับแห่งหนี้
1. การชำระหนี้
1.1 ผู้ชำระหนี้ บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้นั้นจะไม่เปิดช่องให้บุคลภายนอกชำระ หรือขัดเจตนาของคู่กรณี (ม.314)
1.2 ผู้รับชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะรับชำระหนี้แล้ว หนี้นั้นก็หาระงับลงไม่ “ผู้รับชำระหนี้” คือบุคคลดังต่อไปนี้ (ม.315)
(1) เจ้าหนี้
(2) ผู้มีอำนาจชำระหนี้แทนเจ้าหนี้
(3) ผู้ที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ได้ให้สัตยาบันแล้ว
(4) การชำระหนี้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ คือ ผู้ที่มีหลักฐานเบื้องต้นว่าเป็นเจ้าหนี้ ถ้าผู้ชำระหนี้กระทำไปโดยสุจริตแล้ว หนี้ย่อมระงับ (ม.316)
(5) การชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือใบเสร็จโดยสุจริต (ม.318)
(6) การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยฝ่าฝืนคำสั่งศาล (ม.319) หนี้นั้นไม่ระงับ
(7) การชำระหนี้ให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ได้ลาภงอกจากการนั้น
(ม.317)
1.3 วัตถุในการชำระหนี้ หากเป็นการตกลงให้ชำระหนี้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างนั้นโดยตรง จะนำทรัพย์สินอื่นมาชำระแทนไม่ได้ และจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนก็ไม่ได้ (ม.320) อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ยินยอมรับชำระเป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน หรือยินยอมรับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนก็ย่อมทำได้ ซึ่งอาจทำให้หนี้นั้นระงับไปทั้งหมด หรือบางส่วนแล้วแต่กรณี (ม.321)
- ในกรณีที่วัตถุแห่งการชำระหนี้เป็น “เงินสด” และมีการชำระหนี้ด้วยเช็คหรือตั๋วเงินประเภทอื่นแทนนั้น ยังไม่ถือว่าหนี้ระงับลง จนกว่าเช็คหรือตั๋วเงินนั้นจะได้ขึ้นเงินแล้วเท่านั้น (ม.321 ว.สาม)
1.4 สถานที่ชำระหนี้ หากคู่กรณีไม่ได้ตกลงกันไว้เกี่ยวกับสถานที่ชำระหนี้ ถ้าเป็นการชำระหนี้ด้วยการส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง กฎหมายให้ส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้นขึ้น ส่วนสำหรับสถานที่ชำระหนี้ในกรณีอื่นๆ นั้น หากไม่ได้ตกลงกันไว้กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระหนี้ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้ (ม.324)
1.5 ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ หากไม่ได้ตกลงกันเอาไว้ กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายลูกหนี้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (ม.325
1.6 หลักฐานในการชำระหนี้ ลูกหนี้จะได้รับอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ม.326)
(1) ใบเสร็จ
(2) ได้รับเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้
(3) ขอให้ทำลายหลักฐานแห่งหนี้ หรือ
(4) ขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย
2. การปลดหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้ยอมสละสิทธิเรียกร้องอันมีต่อลูกหนี้ให้แก่ลูกหนี้ไปโดยเสน่หา ซึ่งมีผลทำให้หนี้นั้นระงับลง (ม.340) ถ้าหากหนี้นั้นมีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย (ม.340 วรรคสอง)
3. การหักกลบลบหนี้ (ม.341) มีหลักดังนี้
3.1 การหักกลบลบหนี้เป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้
3.2 มูลหนี้ต้องมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน
3.3 หนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว และทั้งสภาพแห่งหนี้ก็เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้กันได้
4. การแปลงหนี้ใหม่ คือ การที่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้กัน หนี้นั้นเป็นอันระงับไปด้วย “แปลงหนี้ใหม่” (ม.349) เช่น การเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้
5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใด ตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันแล้ว หนี้นั้นเป็นอันระงับไปด้วยหนี้เกลื่อนกลืนกัน (ม.353)
ละเมิด

☺ องค์ประกอบมี ดังนี้
1. เป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
2. เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ม. 420
3. การกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
ข้อสังเกต การยอมให้บุคคลอื่นกระทำต่อตนด้วยความสมัครใจกล่าวคือ ปราศจากการข่มขู่กลฉ้อฉลหรือสำคัญผิดและความยินยอมที่ให้นี้จะต้องมีอยู่ตลอดเวลาในที่ทำละเมิดด้วย

☺ ความรับผิดเนื่องจากการแสดงความเท็จ
ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง โดยรู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง หรือควรจะรู้ได้ว่าข้อความนั้นไม่จริง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ผู้นั้นจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น (ม.423) แต่มีข้อยกเว้น คือ หากผู้กล่าวหรือผู้รับข้อความนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว (ม. 423 วรรคสอง) การกล่าวในลักษณะหมิ่นประมาทดังกล่าวย่อมไม่เป็นละเมิด

☺ ความรับผิดในการทำละเมิดของบุคคลอื่น
1. ความรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้าง หลัก นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น (ม.425) นายจ้างและลูกจ้างต้องมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน
“ทางการที่จ้าง” หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานหรืออยู่ในขอบเขตของงานที่จ้าง รวมตลอดถึงการกระทำใดๆ ที่อยู่ภายใต้คำสั่งหรือความควบคุมดูแลของนายจ้าง
เมื่อนายจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกจ้างได้ (ม.426)
2. ความรับผิดในการทำละเมิดของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต กฎหมายสันนิษฐานให้บิดามารดา ผู้อนุบาล หรือผู้ที่รับดูแลผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตอยู่ต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลนั้นแล้ว (ม.429 , 430)
3. ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะหรือทรัพย์อันตราย กฎหมายกำหนดไว้ว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หรือครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะ

หรือทรัพย์นั้นๆ (ม.437) ผู้ครอบครองจะหลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้ ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้เสียหายเอง
4. ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ กฎหมายให้สันนิษฐานให้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลที่รับเลี้ยงดูแลสัตว์นั้นไว้แทนเจ้าของเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ต้องเสียหายนั้น อย่างไรก็ดี หากเจ้าของสัตว์หรือบุคคลที่รับเลี้ยงรับดูแลสัตว์นั้นไว้แทนเจ้าของ พิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว (ม.433)
5. ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ครอบครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้นเป็นผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี หากผู้ครอบครองสามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายแล้ว ผู้ครอบครองไม่ต้องรับผิด และในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้น เป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ม.434)

☺ ค่าสินไหมทดแทน ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
(ม.438) คือ
1. กรณีทำทรัพย์สินเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ การคืนทรัพย์สิน ที่เสียไป ถ้าคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาทรัพย์นั้น รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ
2. กรณีเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย
2.1 ถ้าถึงตาย (ม.443) ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ / ค่าขาดไร้อุปการะ
ถ้าไม่ตายทันที ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
2.2 ถ้าไม่ถึงตาย ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมตลอดทั้ง ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ผู้เสียหายยังอาจเรียกค่าเสียหาย อันไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้อีกด้วย เช่น ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานในระหว่างการรักษา แต่ค่าเสียหายนี้เป็นการเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนกันได้ และไม่สืบทอดไปถึงทายาท (ม.446)

☺ นิรโทษกรรม (ม. 438)
ถ้าการทำละเมิดดังกล่าว ผู้กระทำได้ทำไปเพื่อป้องกันก็ดี เพราะมีเหตุจำเป็นก็ดี หรือเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายสาธารณะซึ่งมีมาโดยฉุกเฉินก็ดี ผู้กระทำละเมิดโดยเหตุดังกล่าวนั้นไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จัดการงานนอกสั่ง
หมายถึง การที่บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น โดยเขามิได้วานขานวานใช้ให้ทำ หรือไม่มีสิทธิจะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ต้องจัดการงานนั้นให้เป็นประโยชน์ตามความต้องการแท้จริงของผู้อื่นนั้น หรือตามที่พึงจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นความประสงค์ของเขา ผู้ที่เข้าจัดการก็มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายนั้นได้ (ม.395)
ถ้าการเข้าจัดการงานนั้น ขัดความประสงค์ของเขา ผู้เข้าจัดการไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ และถ้าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นนั้นแล้ว ก็ต้องชดใช้ให้กับเขาด้วย (ม.396)

ลาภมิควรได้
ได้แก่ กรณีที่บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สินใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อการชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลหนี้อันจะอ้างกฎหมายใด และการได้มานั้นทำให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ สิ่งที่ได้มานั้นเป็นลาภมิควรได้ ต้องคืนให้ผู้มีสิทธิไป (ม.406) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ทรัพย์สินมานั้นไม่จำต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลต่อไปนี้คือ ผู้ที่ชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพัน / ผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (ม.408 , 411)
เมื่อมีการเรียกคืนลาภมิควรได้นั้น ผู้ที่รับทรัพย์ไว้โดยสุจริต ต้องคืนลาภมิควรได้ เพียงเท่าที่มีอยู่หรือตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (ม.412 , 413)

สัญญาซื้อขาย

☺ ความหมายของสัญญาซื้อขาย มีลักษณะดังนี้ (ม.453)
1. สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาตกลงทำสัญญาซื้อขายแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นต้องโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่เวลาที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันทันที (ม.458)
2. ผู้ซื้อตกลงจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย “ราคา” ในที่นี้หมายความถึง เงินตราปัจจุบันที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มิใช่ทรัพย์สินอย่างอื่น เพราะถ้าหากเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นแล้ว ก็อาจกลายเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนไป (ม. 518)

☺ สัญญาซื้อขายที่ต้องทำตามแบบ
1. อสังหาริมทรัพย์ (ม.139) ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
2. สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ (ม.456) มิฉะนั้น สัญญาซื้อขายจะตกเป็นโมฆะ (ม.456)
3. สังหาริมทรัพย์ราคา 500 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด หรือต้องได้มีการวางมัดจำ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ม.456 วรรคท้าย)

☺ หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย
1. การส่งมอบทรัพย์สิน โดยปกติผู้ขายก็ต้องส่งมอบให้ผู้ซื้อทันทีเมื่อเกิดสัญญาซื้อขายขึ้น เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ตกลงไว้ประการอื่น
2. ความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุทำให้ทรัพย์นั้นเสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ตามปกติ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ (ม. 472) ทั้งนี้โดยผู้ขายจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ผู้ขายไม่ต้องรับผิด (ม.473)
2.1 ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
2.2 ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
2.3 ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด
3. ความรับผิดในการรอนสิทธิ หากมีผู้อื่นซึ่งมีสิทธิตามกฎหมาย มารบกวนสิทธิของผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายต้องรับผิด (ม.475) เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ผู้ขายไม่ได้รับผิด
3.1 ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย (ม.476)
3.2 ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง
(ม.473) 3.3 ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามาผู้ซื้อจะชนะ
3.4 ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้ซื้อเอง

☺ ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาจะซื้อจะขายกับสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” เป็นการซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเปลี่ยนมือ หรือโอนไปยังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ ส่วนการซื้อขายจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น นอกจากการตกลงกันแล้ว ต้องพิจารณาถึงแบบของสัญญาด้วย ถ้าเป็นการซื้อขายทรัพย์สินชนิดที่กฎหมายกำหนดให้มีแบบแล้ว ต้องทำตามแบบด้วย มิฉะนั้น สัญญาซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะ
“สัญญาจะซื้อจะขาย” เป็นสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อในเวลาภายหน้า
ข้อสังเกต สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือได้วางมัดจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ม.456)

สัญญาขายฝาก

☺ ลักษณะของสัญญาขายฝาก (ม.491) มีดังนี้
1. เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ทำให้กรราสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโอนเปลี่ยนมือจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อฝากทันที แม้จะยังไม่มีการส่งมอบหรือชำระราคาก็ตาม
2. มีข้อตกลงให้ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ ในการทำสัญญาขายฝากไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “ไถ่” อาจใช้คำอื่นๆ ที่มีความหมายทำนอเดียวกันก็ได้ เช่น “ซื้อกลับคืน” หรือ “ซื้อคืน” เป็นต้น

☺ แบบของสัญญาขายฝาก ให้นำบทบัญญัติในลักษณะซื้อขายมาใช้บังคับ

☺ ระยะเวลาในการใช้สิทธิไถ่คืน (ม.494) มีดังนี้

1. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ คู่กรณีจะกำหนดระยะเวลาไถ่คืนไว้เกินกว่า 10 ปีไม่ได้
2. ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ คู่กรณีจะกำหนดระยะเวลาไถ่เกินกว่า 3 ปีไม่ได้
3. ถ้าคู่กรณีกำหนดระยะเวลาไถ่คืนไว้เกิน 10 ปี หรือ 3 ปี ก็ต้องลดลงมาเหลือเพียง 10 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่ประเภททรัพย์ (ม.495)
- ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาไถ่ไว้ หรือมีการขยายระยะเวลาไถ่ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกินระยะเวลาตามกฎหมาย คือ 10 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่กรณี (ม.496)

“สินไถ่” คือ ราคาไถ่ถอน ซึ่งต้องเป็นเงินตราเท่านั้น จะเอาทรัพย์สินอย่างอื่นมาไถ่แทนไม่ได้ และถ้าหากไม่ได้กำหนดสินไถ่ไว้ในสัญญา กฎหมายถือว่า สินไถ่มีจำนวนเท่ากับราคาที่ขายฝากไว้ แต่ถ้ามีการกำหนดราคาขายฝาก หรือสินไถ่ไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กฎหมายกำหนดให้ไถ่ได้ ตามราคาขายฝากที่แท้จริง รวมถึงประโยชน์ตอบแทนอีกร้อยละ 15 ต่อปี (ม.499)

☺ บุคคลผู้มีสิทธิไถ่คืนทรัพย์สินและบุคคลผู้มีหน้าที่รับไถ่คืนทรัพย์สิน

     โดยปกติบุคคลผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินก็คือ ผู้ขายฝาก ส่วนบุคคลผู้มีหน้ารับไถ่ทรัพย์สินก็คือ ผู้ซื้อฝากนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ทายาทของบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นบุคคลผู้มีสิทธิไถ่หรือบุคคลผู้มีหน้าที่รับการไถ่ด้วย
           นอกจากนี้ บุคคลซึ่งในสัญญาขายฝากได้กำหนดไว้ให้เป็นผู้ไถ่ได้ (ม.497 ,498)
ถ้ามีการขอไถ่ทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย แต่ผู้รับซื้อฝากไม่ยอมหรือไม่อยู่รับไถ่ ผู้ไถ่สามารถนำสินไถ่ไปวางไว้ยังสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งขายฝากไว้นั้น ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ ตั้งแต่เวลาที่ได้ชำระสินไถ่ หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี (ม.492)

สัญญาเช่าทรัพย์

☺สัญญาเช่าทรัพย์มีลักษณะดังนี้ (ม. 537) คือ
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน สัญญาเช่ารายใดที่กำหนดให้ผู้เช่าได้ประโยชน์ในทรัพย์สินฝ่ายเดียว โดยผู้เช่าไม่ต้องมีหน้าที่อย่างใดๆ แล้ว สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาเช่าไม่ แต่อาจเป็นสัญญายืม (ม.369) หรือเป็นผู้อาศัย
2. ผู้เช่ามีสิทธิได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า “ทรัพย์สิน” (ม. 138) ที่เป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่านี้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์หรือสิทธิใดๆ ก็ได้ และสิทธิที่จะใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินตามสัญญาเช่านั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นระยะเวลาอันมีจำกัด หรือแม้จะกำหนดระยะเวลาเช่าไว้ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าก็ได้ (ม.541) เพราะเท่ากับเป็นการกำหนดระยะเวลาอันมีจำกัดแล้ว
3. ผู้เช่าตกลงให้ค่าเช่าเพื่อตอบแทนการใช้ทรัพย์สิน “ค่าเช่า” โดยปกติจะเป็นเงินตรา แต่คู่สัญญาจะตกลงกันกำหนดค่าเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามไว้แต่อย่างใด

☺ แบบการทำสัญญาเช่าทรัพย์ กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้แต่อย่างใด ดังนั้นเพียงแต่คู่กรณีได้มีเจตนาตกลงกัน สัญญาเช่าทรัพย์ก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ในเรื่องนี้มีกรณียกเว้น หากเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (ม. 538) แบ่งได้ดังนี้
1. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดระยะเวลาเช่าไว้ไม่เกิน 3 ปี ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
2. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดระยะเวลาเช่าไว้เกิน 3 ปี หรือตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ต้องทำเป็นหนังสือ+จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากไม่ทำตามก็จะฟ้องร้องบังคับคดีได้แค่เพียง 3 ปีเท่านั้น

☺ หน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่า
1. การส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว (ม. 546) และจะต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การที่จะใช้ประโยชน์ตามสัญญาเช่าด้วย (ม.548)
2. การจัดให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าตลอกเวลาการเช่า ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องดูแล บำรุงรักษา เว้นแต่การซ่อมแซมที่มีกฎหมายหรือจารีตประเพณีกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้ซ่อมแซมเอง
(ม.550) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้รักษาและซ่อมแซม ได้แก่การบำรุงรักษาตามปกติ และการซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ (ม. 553)

☺ หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่า
1. หน้าที่ในการชำระค่าเช่า หากไม่มีการตกลงกันไว้ ให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่าแต่ละคราว
(ม.559)
2. หน้าที่ในการสงวนรักษาทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง เช่น
2.1 ในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่านั้น ผู้เช่าต้องใช้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือตามปกติประเพณีเท่านั้น (ม.552)
2.2 ในการใช้ทรัพย์สิน ผู้เช่าต้องสงวนรักษาทรัพย์สินนั้นเสมอที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง (ม.553)
3. หน้าที่ในการคืนทรัพย์สินที่เช่า มีข้อยกเว้น คือ การเช่าที่นา และสัญญาได้ครบกำหนดลงในขณะที่ผู้เช่าได้เพราะปลูกข้าวแล้ว ผู้เช่าก็มีสิทธิที่จะครอบครองใช้ประโยชน์ในนานั้นต่อไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ แต่ทั้งนี้ผู้เช่าก็ต้องชำระค่าเช่าในระหว่างนั้นด้วย (ม.571) ในการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่านั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้เช่าต้องส่งทรัพย์สินคืนในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วเช่นกัน (ม.561)

☺ การสิ้นสุดของสัญญาเช่าทรัพย์
 
1. กรณีที่สัญญาเช่าระงับไปด้วยผลของกฎหมาย อาจมีได้โดยเหตุต่อไปนี้ คือ
1.1 เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าตามที่ตกลงไว้ในสัญญา กฎหมายกำหนดให้สัญญาเช่าระงับเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ โดยมิพักต้องบอกกล่าว (ม.564)
1.2 เมื่อผู้เช่าตาย สัญญาเช่าทรัพย์นั้นคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ สิทธิการเช่าจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เข่า อันไม่อาจตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้
1.3 เมื่อทรัพย์ที่เช่านั้นสูญหายไปทั้งหมด (ม.567)
2. กรณีที่สัญญาเช่าระงับไปด้วยการบอกเลิกสัญญา อาจมีได้โดยเหตุต่อไปนี้ คือ
2.1 กรณีที่มีข้อตกลงในสัญญาเช่าระบุให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่คู่สัญญาเอาไว้โดยเฉพาะ
2.2 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาเช่าในข้อสำคัญ เช่น ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.560)
2.3 กรณีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาไว้ และไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าระยะเวลาเช่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดแล้ว กฎหมายได้กำหนดให้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาแก่คูกรณีทั้งสองฝ่ายไว้ แต่ในการบอกเลิกสัญญาเช่านั้นต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า 2 เดือน (ม.566)
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
คือ นอกจากจะต้องชำระค่าเช่าเพื่อตอบแทนการได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าแล้ว ผู้เช่ายังต้องชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการตอบแทนที่ได้เข้าทำสัญญาเช่านั้นยิ่งไปกว่าการชำระค่าเช่าธรรมดาอีกด้วย ดังนั้น แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ใช้บังคับตามข้อตกลงได้
ข้อสังเกต ค่าเช่าที่มีเงินกินเปล่าหรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ นั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่า จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
ผลทางกฎหมายของสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ
การทำสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ แม้จะเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด และสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษนี้ แม้ผู้เช่าตาย สัญญาเช่าก็ไม่ระงับ ทายาทของผู้เช่ามีสิทธิเช่าต่อไปได้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา

สัญญาเช่าซื้อ

มีลักษณะดังนี้ คือ (ม.572)
1. เป็นสัญญาซึ่งเจ้าของทรัพย์สินนำทรัพย์สินออกให้เช่า
2.มีคำมั่นของเจ้าของทรัพย์สินว่าจะขายหรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ หากได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาครบถ้วนแล้ว
แบบของสัญญาเช่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม กฎหมายได้กำหนดแบบของสัญญาเช่าซื้อไว้ คือ ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาในสัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดมิได้ลงลายมือชื่อ จะถือว่าฝ่ายนั้นทำหนังสือด้วยมิได้ มิฉะนั้นสัญญาตกเป็นโมฆะ (ม.572 วรรคสอง)
ความระงับแห่งสัญญาเช่าซื้อ
1. โดยการบอกเลิกของผู้เช่าซื้อ โดยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ (ม.573)
2. โดยการบอกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่าซื้อ มีสาเหตุ 2 ประการ คือ
2.1 เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน (ม.574) หากเป็นการผิดนัดไม่ใช่เงินในงวดสุดท้าย ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อระยะเวลาการใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่งแล้ว (ม.574)
2.2 เมื่อผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ (ม.574)
ผลของการบอกเลิกสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้น และริบเงินทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระมาแล้ว (ม.574)
ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าทรัพย์
1. สัญญาเช่าทรัพย์ ผู้เช่ามีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าโดยไม่มีทางจะได้กรรมสิทธิ์เลย ไม่ว่าจะเช่ากันนานเท่าใด / แต่สัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อนอกจากมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าแล้ว ยงอาจได้สิทธิในทรัพย์สินนั้นหากได้ชำระเงินครบจำนวนครั้งตามที่กำหนดในสัญญา
2. ค่าเช่าในสัญญาเช่าทรัพย์นั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ / แต่ค่าเช่าซื้อนั้นกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเงินเท่านั้น (ม.572)
3. สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาที่ต้องทำตามแบบ คือ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ / แต่สัญญาเช่าทรัพย์ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด

สัญญาจ้างแรงงาน

     คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ (ม.575) การจ้างแรงงานนี้ รวมถึงการใช้ความรู้ความสามารถด้วย เช่น จ้างครูมาสอนหนังสือ เป็นต้น

☺สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะดังนี้

1. ต้องมีการตกลงเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน
2. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
3. สาระสำคัญอยู่ที่คู่สัญญา นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ทำนองเดียวกัน ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนไม่ได้ถ้านายจ้างไม่ยินยอมด้วย ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนความยินยอมนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.577)
4. เป็นสัญญาไม่มีแบบ เพียงตกลงด้วยวาจาก็ใช้ได้แล้ว

☺หน้าที่ของลูกจ้าง

1. ต้องทำงานด้วยตนเอง จะให้คนอื่นทำงานแทนไม่ได้ ถ้านายจ้างไม่ยินยอมด้วย (ม.577)
2. ต้องทำการให้ได้ตามที่ตนรับรองไว้ เมื่อได้แสดงออกโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายว่าเป็นเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ (ม. 578)
3. ต้องปฏิบัติตามและเชื่อฟังคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความลับในการงานของนายจ้าง

☺ หน้าที่ของนายจ้าง

1. ต้องให้สินจ้างแก่ลูกจ้าง แม้ว่าจะมิได้ตกลงกันไว้ว่ามีสินจ้างหรือไม่ ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจคาดหมายได้ว่า งานนั้นจะพึงทำให้เปล่า ต้องถือว่า มีคำมั่นว่าจะให้สินจ้าง (ม. 576) ส่วนการจ่ายสินจ้างนั้น ถ้าไม่ได้กำหนดไว้โดยสัญญาหรือจารีตประเพณีให้จ่ายเมื่อทำงานเสร็จ ถ้ากำหนดไว้เป็นระยะเวลา ให้จ่ายเมื่อสุดระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป (ม.580)
2. ต้องออกหนังสือรับรองผลงานและระยะเวลาที่ทำงานให้แก่ลูกจ้าง (ม.585)
3. ถ้าลูกจ้างมาจากต่างถิ่น ซึ่งนายจ้างได้ออกค่าเดินทางมาให้ เมื่อการจ้างสิ้นสุดลงนายจ้างพึงออกค่าเดินทางกลับให้ด้วย เว้นแต่การเลิกจ้างนั้น เนื่องมาจากการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง (ม.586)
ถ้านายจ้างไม่ทำตามหน้าที่ ลูกจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ และถ้าเกิดความเสียหายอย่างใดๆ ลูกจ้างย่อมเรียกค่าเสียหายได้ (ม. 215)

☺ ความระงับแห่งสัญญาจ้างแรงงาน

1.เมื่อครบกำหนดในสัญญาจ้าง หรือมีการบอกเลิกสัญญา
2. สัญญาจ้างแรงงานระงับเมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย (ม.584)
3. การเลิกสัญญาตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่
3.1 เมื่อนายจ้างหรือลูกจ้างทำผิดหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้ (ม.577 และ ม.583)
3.2 เมื่อลูกจ้างขาดคุณสมบัติที่ได้ให้คำรับรองไว้หรือไร้ฝีมือ (ม.578)
3.3 เมื่อลูกจ้างขาดงานไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเป็นระยะเวลานานเกินสมควร
3.4 เมื่อมีการบอกกล่าวเลิกสัญญาล่วงหน้า เมื่อถึงกำหนดหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า (ม.582)
4. การทำงานของลูกจ้างตกเป็นพ้นวิสัย

☺ อายุความในการฟ้องร้องคดี เป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไป คือ 10 ปี (ม.193/30)
สัญญาจ้างทำของ

☺ หลักเกณฑ์ที่สำคัญ (ม.587) มีดังนี้
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
2. เป็นสัญญาที่มุ่งถือผลสำเร็จของงาน
3. ไม่มีแบบ

☺ หน้าที่และความรับผิดของผู้รับจ้าง

1. ต้องทำงานให้สำเร็จตามสัญญา (ม.587)
2. ต้องจัดหาเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในการทำงาน (ม.588)
3. ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ต้องจัดหาชนิดที่ดี (ม.589) ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหา ผู้รับจ้างต้องใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัด เมื่อทำเสร็จแล้วต้องคืนสัมภาระที่เหลือ (ม.590)
4. ต้องรับผิดชอบในความชักช้าของงานที่ทำ เว้นแต่ความชักช้านั้นเกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง
(ม.593)
5. ต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนตรวจตราการงาน (ม.592)
6. ต้องแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำงานนั้น (ม.594)
7. ต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องภายหลังการส่งมอบ เพียงที่ปรากฏขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบ หรือภายใน 5 ปี ถ้าเป็นสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดิน (ม.600)
8. ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับการที่ทำบกพร่องนั้น โดยไม่อิดเอื้อน ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้น จะไม่พึงพบได้ในขณะรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย (ม.598)
9. ต้องทำการให้เสร็จและส่งมอบให้ตรงตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ( ม. 596) หากส่งมอบล่าช้า ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง เว้นแต่ความล่าช้าจะเกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง

☺ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง
 
1. หน้าที่ในการจ่ายสินจ้าง ตามจำนวนและเวลาที่ตกลงกัน เว้นแต่จะมีเหตุให้ไม่ต้องจ่ายสินจ้าง หรือมีเหตุให้ลดสินจ้าง
2. รับผิดเมื่อผู้ว่าจ้างมีส่วนผิดในกรณีสั่งให้ทำหรือในการเลือกผู้รับจ้าง หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้
(ม.591) อนึ่ง เมื่อการงานที่ทำพังทลาย สูญหายไปก่อนส่งมอบโดยมิใช่ความผิดของฝ่ายใด
- ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดสัมภาระ ความวินาศนั้น ตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง สินจ้างไม่ต้องใช้
(ม.603)
- ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดสัมภาระ ความวินาศนั้น ตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง สินจ้างไม่ต้องใช้ (ม.604)

☺ ความระงับแห่งสัญญาจ้างทำของ

1. เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จ แล้วส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง และได้รับค่าจ้างครบถ้วนแล้ว
2. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา
3. สัญญาเลิกกันโดยผลของกฎหมาย
3.1 ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้ ถ้าการที่จ้างยังไม่เสร็จ แต่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่จะพึงมีให้แก่ผู้รับจ้าง (ม.605)
3.2 เมื่อผู้รับจ้างตายหรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการงานนั้นได้ ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับจ้าง (ม.606) สัญญาจ้างระงับ แต่ต้องใช้สินจ้างตามส่วนของการงานที่ทำไปแล้ว

☺ อายุความการฟ้องร้องเพื่อให้ผู้รับจ้างรับผิดในความชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น (ม.601)
สัญญายืมใช้คงรูป

☺ หลักเกณฑ์ที่สำคัญ (ม.640) ดังนี้ คือ
1. เป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทน
2. เป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิ์
3. วัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปคือทรัพย์สิน

☺ หน้าที่ของผู้ยืม

1. หน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าบำรุงรักษาทรัพย์สิน (ม.647) ค่าใช้จ่ายในการส่งมอบทรัพย์สินคืน (ม. 642)
2. หน้าที่ในการใช้สอยทรัพย์สินและสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม และต้องใช้ทรัพย์สินด้วยตนเอง จะนำไม่ให้ผู้อื่นใช้ไม่ได้ (ม.643)
3. หน้าที่ในการส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อใช้เสร็จ

☺ ความระงับแห่งสัญญายืมใช้คงรูป

1. ในกรณีที่สัญญาได้กำหนดระยะเวลายืมไว้ สัญญาจะระงับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญา
2. ในกรณีที่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลายืมไว้ ผู้ให้ยืมมีสิทธิเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ (ม.646 วรรคสอง)
3. สัญญายืมใช้คงรูปจะระงับไปเมื่อผู้ยืมตาย (ม.648)
4. สัญญายืมใช้คงรูปจะระงับไปเมื่อผู้ให้ยืมบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่ผู้ยืมผิดสัญญา (ม.645)
สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

☺ หลักเกณฑ์ที่สำคัญ (ม.650) ดังนี้

1. สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจเป็นสัญญามีค่าตอบแทนก็ได้
2. เป็นสัญญาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์
3. วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองคือทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป

☺ หน้าที่ของผู้ยืม ต้องส่งมอบทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แก่ผู้ให้ยืม เมื่อสัญญายืมระงับสิ้นไป (ม.640)
สัญญากู้ยืมเงิน

☺ มีหลักดังนี้ (ม.653) คือ ในการยืมเงินที่มีจำนวนเกินกว่า 50 บาทขึ้นไปนั้น ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

☺ สัญญากู้ยืมเงินที่คิดดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยนั้นจะเป็นเงินตราหรือจะเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ ในการคิดดอกเบี้ยนั้นคู่สัญญาจะคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ ถ้าคู่สัญญาฝ่าฝืนก็จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยทั้งหมดตกเป็นโมฆะ แต่ในส่วนของต้นเงินนั้นยังคงใช้ได้ เพราะสามารถแยกส่วนต้นเงินซึ่งสมบูรณ์ออกจากส่วนดอกเบี้ยได้ (ม.173)
หากคู่สัญญากำหนดให้คิดดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ให้คิดร้อยละ 7.5 ต่อปี (ม.7)
การคิดดอกเบี้ยทบต้น หากคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้เป็นหนังสือว่า ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในกรณีที่ดอกเบี้ยได้ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปีแล้ว (ม. 654) กับกรณีมีประเพณีการค้าขายให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้

สัญญาฝากทรัพย์

☺ มีหลักดังนี้ (ม.657)
1. เป็นสัญญาที่สมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์ (ถ้าไม่มีการส่งมอบ ถึงแม้ว่าจะได้ทำเป็นหนังสือกันแล้ว สัญญานั้นก็ไม่สมบูรณ์ ฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้
2. วัตถุแห่งสัญญาเป็นทรัพย์สิน
3. ผู้รับฝากต้องเก็บรักษาไว้ในอารักขาแห่งตน

☺ ค่าบำเหน็จในการฝากทรัพย์ กฎหมายให้ถือว่าเป็นการฝากทรัพย์มีบำเหน็จ (ม.658) ฉะนั้นแม้จะไม่ได้ตกลงค่าฝากไว้ต่อกัน ก็สามารถเรียกร้องกันได้

☺ หน้าที่ของผู้รับฝาก
1. หน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการสงวนทรัพย์สิน แยกได้เป็น 3 กรณี คือ (ม.659)
1.1 การรับฝากโดยไม่มีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
1.2 การรับฝากโดยมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังเหมือนวิญญูชนจะพึงกระทำ
1.3 การรับฝากโดยผู้มีวิชาชีพเฉพาะ ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพเช่นนั้นจะต้องใช้ด้วยหากใช้ความระมัดระวังธรรมดา ทรัพย์ที่ฝากเสียหายหรือสูญหายไป ผู้รับฝากก็อาจไม่พ้นความรับผิด
2. หน้าที่เก็บรักรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากด้วยตนเอง ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษา ผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง (ม.660)
3. หน้าที่ต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้รับฝากโดยพลัน ถ้ามีบุคลภายนอกมาอ้างว่า มีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือมายึดทรัพย์สินนั้นก็ดี (ม.661)
4. หน้าที่คืนทรัพย์สินที่รับฝากไว้
4.1 การคืนเมื่อถึงกำหนด (ม.662) เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ ถึงจะคืนก่อน
กาหนดได้
4.2 การคืนก่อนกำหนด (ม.663) หากผู้รับฝากเรียกคืน
4.3 การคืนทรัพย์สินได้ทุกเมื่อ (ม.664) ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาส่งคืนไว้
4.4 ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินให้แก่บุคคลที่ควรเป็นผู้รับคืน (ม.665)
5. ต้องคืนดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์ที่ฝาก (ม.666)

☺ หน้าที่ของผู้ฝาก
1.หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก (ม.667)
2. หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝาก (ม.668)
3. หน้าที่เสียค่าบำเหน็จ (ม.669)

☺ สิทธิยึดหน่วงของผู้รับฝาก ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น

☺ อายุความ 6 เดือน สำหรับ 3 กรณี คือ (ม.671)
1. เรียกร้องให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์
2. เรียกร้องให้ใช้เงินค่าใช้จ่ายที่เสียไปเกี่ยวกับทรัพย์
3. เรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ ได้แก่กรณีทรัพย์สินที่ฝากบุบสลายโดยไม่ถึงกับสูญหาย อันเป็นความผิดของผู้รับฝาก
ถ้าเป็นการฟ้องเรียกร้องโดยอาศัยเหตุอื่น ใช้อายุความ 10 ปีตามหลักทั่วไป
วิธีเฉพาะการฝากเงิน
เกี่ยวกับการฝากเงิน กฎหมายบัญญัติรายละเอียดไว้เพียง 2 ประการเท่านั้น (ม.672 และ 673) แต่หลักใหญ่ก็ยังต้องใช้หลักทั่วไปในเรื่องการฝากทรัพย์ประกอบด้วย
1. ผู้รับฝากไม่ต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่ฝาก
2. ผู้รับฝากใช้เงินที่ฝากได้

สัญญาค้ำประกัน

☺ หลักมีดังนี้ (ม.680)
1. เป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
2. สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์ กล่าวคือ จะต้องมีหนี้ให้ค้ำประกัน ดังนั้น ถ้าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือระงับสิ้นไปด้วยเหตุใดๆ ก็ดี สัญญาค้ำประกันย่อมสิ้นผลไปด้วย (ม.681 วรรคหนึ่ง)

☺ แบบของสัญญาค้ำประกัน

ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (ม.680 วรรคสอง) แต่เจ้าหนี้ยังคงสามารถฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้ตามมูลหนี้สัญญาประธานได้

☺ ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ก็ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด (ม.204) เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้เมื่อนั้น (ม.686) แต่ผู้ค้ำประกันก็ยังสามารถเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนได้ หากผู้ค้ำประกันสามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก (ม.689)

☺ ความระงับแห่งสัญญาค้ำประกัน

1. เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไป
2. เมื่อผู้ค้ำประกันบอกเลิกการค้ำประกันสำหรับกิจการที่ต่อเนื่องกันหลายคราว ไม่จำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ (ม.699)
3. เมื่อเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้กับลูกหนี้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน (ม.700)
4. เมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้แล้ว (ม.701)

สัญญาจำนอง

☺ มีหลักดังนี้ (ม.702 วรรคหนึ่ง)
1. เป็นเรื่องที่ผู้จำนองนำทรัพย์สินไปตราไว้แก่ผู้รับจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เมื่อถึงกำหนด เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ (ม.702 วรรคสอง)
2. ผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้จำนองยังคงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอยู่
3. สัญญาจำนองเป็นสัญญาอุปกรณ์ (ม.707)

☺ ทรัพย์สินที่จำนองได้ (ม.703)

1. อสังหาริมทรัพย์ (ม.139)
2. สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย ได้แก่
(ก) เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป
(ข) แพ (floating house)
(ค) สัตว์พาหนะ
3. สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ เช่น เครื่องจักรกลโรงงาน

☺ แบบของสัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตาม สัญญาจำนองเป็นโมฆะ (ม.152)

☺ ความรับผิดชอบของผู้จำนอง

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับจำนอง
(ม.728) โดยนำทรัพย์สินที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ และจำนองนั้นครอบไปถึงทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินที่จำนองด้วย

☺ สิทธิของผู้จำนอง

ผู้จำนองมีสิทธิที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินที่จำนองได้ ถ้ามีการจำนองซ้อนกันหลายราย ผู้ที่รับจดทะเบียนจำนองก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนตามลำดับไป (ม.730) ถ้าหนี้ของผู้รับจดทะเบียนจำนองรายหลังถึงกำหนดชำระก่อน ผู้รับจำนองรายหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองรายแรก ซึ่งหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่ได้
หากผู้จำนองเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช้ลูกหนี้แล้ว ผู้จำนองยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนเงินที่ชำระแทนลูกหนี้ไปด้วย (ม.724)


☺ ความระงับแห่งสัญญาจำนอง (ม.744)
1. เมื่อหนี้ที่ประกันระงับ เช่น การแปลงหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตาม หากหนี้นั้นไม่สามารถพิจารณาบังคับคดีได้เพราะขาดอายุความแล้ว ผู้รับจำนองยังคงบังคับตามสัญญาจำนองได้อยู่
2. เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
การปลดจำนอง คือ การที่เจ้าหนี้ยอมสละสิทธิที่จะบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองนั้น แต่การปลดจำนองนี้หาทำให้หนี้เดิมซึ่งเป็นสัญญาประธานระงับไปไม่ หากจะให้การปลดจำนองนั้นมีผลตามกฎหมายถึงบุคคลภายนอกด้วย ก็ต้องนำเป็นหนังสือปลดจำนองนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย (ม.746)
3. เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องจากการบังคับจำนอง และจะต้องมีการจดทะเบียนความระงับแห่งสัญญาจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สัญญาจำนำ

☺ มีหลักดังนี้ (ม.747)
1. ทรัพย์สินที่จำนำต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ แต่สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษก็นำมาจำนำได้
2. ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ ผู้จำนำในสัญญาจำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้ ถ้าไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำสัญญาจำนำก็ไม่เกิดขึ้น
3. สัญญาจำนำเป็นสัญญาอุปกรณ์

☺ ความรับผิดของผู้จำนำ

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะบังคับจำนำได้ตามกฎหมาย
(ม.764) โดยนำเอาทรัพย์สินที่จำนำไว้นั้นออกขายทอดตลาดได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งศาลให้ขายทอกตลาด เพราะทรัพย์สินที่จำนำอยู่ในความครอบครองของผู้รับจำนำอยู่แล้ว

☺ สิทธิของผู้จำนำ

ผู้จำนำที่จะถูกบังคับจำนำทรัพย์นั้น อาจเข้าชำระหนี้ทั้งหมดเสียก็ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้หนี้ประธานระงับไป และส่งผลให้สัญญาจำนำระงับลงด้วย และหากเป็นกรณีที่ผู้จำนำเป็นบุคคลภายนอก ผู้จำนำยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ได้อีกด้วย

☺ ความระงับแห่งสัญญาจำนำ (ม.769)

1. เมื่อหนี้ซึ่งเป็นประกันนั้นระงับสิ้นไป ที่ไม่ใช่ด้วยเหตุอายุความ ถ้าเป็นกรณีขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินที่จำนำยังอยู่กับผู้รับจำนำ ก็สามารถบังคับจำนำได้อยู่
2. เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนไปสู่ความครอบครองของผู้จำนำ
สัญญาตัวแทน

☺ ความเป็นตัวแทนอาจเกิดได้ 2 ประการ คือ (ม.797)

1. การเป็นตัวแทนโดยชัดแจ้ง
2. การเป็นตัวแทนโดยปริยาย โดยเกิดจากพฤติการณ์ทำให้เข้าใจได้ว่ามีการเป็นตัวแทนกันแล้ว
อนึ่ง ผู้จะเป็นตัวแทนนั้น ต้องอาศัยอำนาจของตัวการ ดังนั้น ถ้าตัวการไม่สามารถทำกิจการนั้นได้ด้วยตนเอง ตัวแทนก็ไม่มีอำนาจจัดการ

☺ แบบของการตั้งตัวแทน สัญญาตัวแทนตามปกติไม่มีแบบ อยู่ที่ตัวการกับตัวแทนจะตกลงกันอย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้ว่า ถ้ากิจการใด กฎหมายบังคับให้ ต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งแต่แทนเพื่อทำกิจการนั้น ต้องทำเป็นหนังสือด้วย ส่วนถ้ากิจการใดกฎหมายบังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย (ม.798) ถ้าตัวแทนกระทำไปโดยไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากตัวการ การกระทำนั้น ย่อมไม่ผูกพันตัวการ

☺ หน้าที่ของตัวแทนต่อตัวการ

ในระหว่างอายุสัญญา ตัวแทนมีหน้าที่ดังนี้
1. ต้องทำตามที่ได้รับมอบหมาย จะทิ้งหรือเลิกกลางคันไม่ได้
2. ต้องทำตามคำสั่งของตัวการ ถ้าไม่มีคำสั่งก็ต้องดำเนินการตามธรรมเนียมที่เคยทำกันในกิจการที่เขาให้ทำ (ม. 807)
3. ต้องทำกิจการนั้นด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตั้งตัวแทนช่วงได้ (ม.808)
4. ต้องกระทำโดยใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือตามควร กล่าวคือ ถ้าเป็นตัวแทนที่มีบำเหน็จหรือโดยอาชีพ ต้องใช้ฝีมือระดับของผู้มีวิชาชีพ (ม. 807 วรรคสอง)
5. ต้องแจ้งถึงความเป็นไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ตัวการทราบ (ม.809)
6. ถ้าได้รับเงินหรือทรัพย์สินอย่างใดไว้แทนตัวการ ต้องส่งมอบให้แก่ตัวการทั้งสิ้น (ม.810)
7. ตัวแทนจะทำนิติกรรมกับตัวแทนในนามของตนเองไม่ได้ เว้นแต่ตัวการจะยินยอมด้วย (ม.805)
เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ตัวแทนมีหน้าที่ดังนี้
1.ต้องแถลงบัญชี (ม.809)
2. ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวการตามสมควร เมื่อสัญญาตัวแทนสิ้นสุดลง เนื่องมาจากตัวการตาย ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือล้มละลาย จนกว่าทายาทหรือผู้รับผิดชอบจะได้เข้ามาดูแลแทน (ม.828,829)

☺ ความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการ

1. ถ้าตัวแทนได้กระทำการไปโดยประมาทเลินเล่อ หรือไม่ทำการเป็นตัวแทน หรือทำไปนอกเหนืออำนาจ ตัวแทนต้องรับผิดในความเสียหายอย่างใดๆ ที่เกิดขึ้น (ม.812)
2. ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างหรือทรัพย์สินอย่างใดๆ สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะยินยอมด้วย (ม.825)

☺ สิทธิของตัวแทนต่อตัวการ

1. สิทธิในเงินที่ตัวแทนทดรองจ่าย เพื่อให้การทำงานได้ลุลวงไป (ม.815) ถ้าตัวการไม่ให้ นอกจากตัวแทนจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้แล้ว ยังอาจปฏิเสธไม่ทำหน้าที่ตัวแทนต่อไปได้
2. ถ้าการทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้ เช่น การใช้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยไม่ใช้เป็นความผิดของตนเองแล้ว ตัวแทนจะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้ (ม.816 วรรคท้าย)
3. ถ้ามีข้อตกลงไว้ว่าจะให้บำเหน็จ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย หรือเคยเป็นธรรมเนียมว่าต้องให้บำเหน็จ ตัวแทนก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จ (ม.803)
4. สิทธิยึดหน่วงทรัพย์ของตัวการ (ม.819) ที่อยู่ในความครอบครองของตนเอาไว้ จนกว่าจะได้รับเงินที่ค้างชำระ เพราะ การเป็นตัวแทน

☺ ความระงับแห่งสัญญาตัวแทน

1. ตามความตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา
2. ตามกฎหมาย (ม.826) ได้แก่ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

สัญญานายหน้า

“นายหน้า” คือบุคคลซึ่งทำสัญญากับบุคคลหนึ่งที่เรียกว่าตัวการ ตกลงทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือเป็นสื่อชี้ช่องให้ตัวการได้เข้าทำสัญญา กับบุคคลภายนอก (ม.845)

☺ บำเหน็จของนายหน้า

สัญญานายหน้านั้น ตามปกติต้องถือว่ามีบำเหน็จ (ม.846) แม้จะไม่มีข้อตกลงกันไว้ ก็ต้องให้บำเหน็จตามธรรมเรียมคือร้อยละ 5 สิทธิเรียกค่าบำเหน็จเกิดขึ้นเมื่อตัวการกับบุคคลภายนอกได้ตกลงกันทำสัญญาเสร็จ แม้ต่อมาจะมีการบอกเลิกสัญญาภายหลัง ก็ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้

☺ อายุความฟ้องร้องเรียกค่านายหน้ ใช้อายุความ 10 ปี ตามบทบัญญัติทั่วไป
ประกันภัย

☺ หลักเกณฑ์เฉพาะของสัญญาประกันภัย มี 3 ประการ คือ (ม.861)
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ ผู้เอาประกันภัยเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระเบี้ยประกันภัย และเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อมีเหตุในอนาคตตามสัญญาได้เกิดขึ้น
2. เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขอันไม่แน่นอน เพราะเป็นภัยที่ไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดแก่ใคร เมื่อใด
3. เป็นสัญญาที่รัฐควบคุม
สัญญาประกันวินาศภัย
เป็นสัญญาที่มุ่งหมายชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันสามารถคำนวณเป็นราคาเงินได้ (ม.867 วรรคสอง)

☺ สิทธิของผู้เอาประกันภัย

1. สิทธิขอลดเบี้ยประกัน ถ้าภัยนั้นได้หมดไป โดยมีความเสี่ยงลดลง (ม.864)
2. สิทธิขอลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย ถ้ามูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปมาก (ม.873)
3. สิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับประกันหาหลักประกัน หรือจะบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย (ม.876 วรรคหนึ่ง)
4. สิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ม.877)
5. สิทธิบอกเลิกสัญญา ตามหลักเรื่องหนี้ (ม.987-389) และยังบอกเลิกสัญญาก่อนเริ่มเสียงภัย (ม.872) หรือเมื่อผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย (ม.876) หรือเลิกสัญญาเมื่อบริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้แบบหรือข้อความที่นายทะเบียนไม่เห็นชอบด้วย เป็นต้น

☺ หน้าที่ของผู้เอาประกันภัย

1. หน้าที่เปิดเผยความจริง ผู้เอาประกันภัยต้องแถลงความจริงขณะทำสัญญา (ม.865)
2. หน้าที่ชำระเบี้ยประกัน
3. หน้าที่บอกกล่าวเมื่อเกิดวินาศภัยแก่ผู้รับประกันภัย โดยไม่ชักช้า (ม.881)
4. หน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา ถ้าปฏิบัติ ผู้รับประกันภัยอาจหลุดพ้นความรับผิดได้

☺ สิทธิของผู้รับประกันภัย
 
1. สิทธิเรียกเบี้ยประกัน แม้ว่าเหตุที่ได้ประกันภัยไว้ จะไม่ได้เกิดขึ้นเลยก็ตาม
2. สิทธิขอลดค่าสินไหมทดแทน ในกรณีที่คู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันไว้สูงเกินมาก
(ม.874)
3. สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน เมื่อมีเหตุวินาศภัยตามสัญญาเกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ที่ทราบความวินาศภัยขึ้นแล้ว มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยมิชักช้า ถ้าไม่แจ้ง แล้วเกิดความเสียหายแก่ผู้รับประกันภัย ผู้รับประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนนั้นได้ (ม.881 วรรคสอง) อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เอาประกันภัยแจ้งชักช้าก็ไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไป และถ้าไม่ปรากฏว่าการแจ้งชักช้านั้น ทำให้ผู้รับประกันภัยเสียหายอย่างใด ผู้เอาประกันภัยก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
4. สิทธิในการรับช่วงสิทธิ ถ้าความวินาศภัยเกิดจากบุคคลภายนอก และผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเท่าใด ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น (ม.880 วรรคหนึ่ง)
5. สิทธิในซากทรัพย์
6. สิทธิบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่ผเอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันเต็มจำนวนแล้ว (ม.876 วรรคสอง) หรือบอกเลิกสัญญาตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยบอกกล่าวการเลิกสัญญานั้นเป็นหนังสือให้ทราบล่วงหน้าตามควร

☺ หน้าที่ของผู้รับประกันภัย

1. หน้าที่ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย อันมีเนื้อความถูกต้องตามสัญญา มีข้อความและเป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนเห็นชอบ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยด้วย (ม.867 วรรคสอง)
2. หน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อมีเหตุวินาศภัยเกิดขึ้นตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้
3. หน้าที่คืนเบี้ยประกัน ในกรณีต่อไปนี้ คือ
3.1 เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาก่อนเริ่มเสี่ยงภัย (ม.872)
3.2 เมื่อผู้เอาประกันภัยขอลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย (ม.873)
3.3 เมื่อผู้รับประกันภัยขอลดค่าสินไหมทดแทน (ม.874)
3.4 เมื่อผู้รับประกันภัยตกเป็นบุคคลล้มละลาย (ม.876)
3.5 กรณีบอกเบิกสัญญาในกรณีกรมธรรม์ผิดแบบ
3.6 ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งให้ลดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยลง
4. หน้าที่สำรวจค่าเสียหาย ตีราคาค่าเสียหาย (ม.877 วรรคสอง) และออกค่าใช้จ่ายในการตีราคานั้นด้วย (ม.878)

☺ การปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้รับประกันภัย

1. เหตุวินาศภัยนั้นเกิดขึ้น เพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ (ม.879)
2. เหตุวินาศภัยเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย (ม.879 วรรคสอง) กล่าวคือ วัตถุที่เอาประกันนั้นได้เสื่อมสลายไปเองโดยสภาพ

☺ อายุความ การเรียกค่าสินไหมทดแทนต้องฟ้องเรียกร้องภายใน 2 ปี นับแต่เกิดสิทธิตามสัญญา
(ม.882)

สัญญาประกันชีวิต
 
ได้แก่ สัญญาประกันภัย ซึ่งเงื่อนไขในการใช้จำนวนเงินโดยอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลหนึ่ง (ม.889)

☺ สิทธิของผู้เอาประกันชีวิต

1. สิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนหนึ่ง
2. สิทธิเรียกร้องจากผู้ที่ก่อมรณภัย (ม.896)
3. สิทธิบอกเลิกสัญญา เสียในเวลาใดๆ ก็ได้ โดยงดส่งเบี้ยประกันต่อไป โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าได้ส่งเบี้ยประกันมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยหรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัยด้วย (ม.894)
4. สิทธิขอลดเบี้ยประกันชีวิต (ม.864)

☺ หน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิต

1. หน้าที่ต้องเปิดเผยความจริง เนื่องจากการคิดเบี้ยประกันชีวิต มีฐานมาจากอายุและสุขภาพอนามัยของเอาประกันชีวิต ถ้าไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้จะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆียะ (ม.893) หรือความจริงเกี่ยวกับอนามัย แต่ถ้าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง หรือไม่ทราบว่าตนเป็นโรคที่ร้ายแรงอยู่ ดังนี้ สัญญาประกันชีวิตนั้นสมบูรณ์
2. หน้าที่ชำระเบี้ยประกันชีวิต

☺ สิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันชีวิต

1. สิทธิได้รับเบี้ยประกันชีวิตตามที่ตกลงกัน
2. หน้าที่ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต
3. หน้าที่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
4. สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต ในกรณีที่สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะเนื่องจากการปกปิดข้อความจริงหรือแถลงเท็จ (ม.865) หรือแถลงอายุคลาดเคลื่อน (ม.893)

☺ เหตุยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต (ม.895)

1. บุคคลนั้นได้ฆ่าตนเองด้วยความสมัครใจภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา หรือ
2. บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
อย่างไรก็ตาม ผู้รับประกันภัยต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต หรือถ้าผู้ตายเอาประกันชีวิตของตนเอง ก็ให้เงินนั้นตกแก่ทายาทของผู้นั้น

☺ สิทธิของเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย

1. ถ้าสัญญาประกันชีวิตไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ ให้ถือว่าเงินนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกนั้น (ม.897 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1734)
2. ถ้าสัญญาเจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้ ผู้นั้นย่อมได้รับเงินประกันชีวิตตามสัญญา แต่ต้องส่งคืนเบี้ยประกันเท่าจำนวนที่ผู้เอาประกันภัยส่งไปแล้วเข้าเป็นกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้เอาใช้หนี้ได้ (ม. 897 ว.สอง)

☺ อายุความ ใช้ 10 ปี ตามบททั่วไป (ม.193/30)
สัญญาตั๋วเงิน

☺ มีลักษณะสำคัญ คือ ต้องทำเป็นหนังสือตราสารเนื้อความตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินตราและเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้โดยการส่งมอบหรือสลักหลังตราสารนั้นๆ (ม.898, 900) การชำระหนี้ด้วยตั๋วเงินจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการใช้เงินตราตามตั๋วเงินแล้ว (ม.321) และแม้การเรียกให้ใช้เงินตามตั๋วจะขาดอายุความแล้ว หากหนี้เดิมยังไม่ขาดอายุความ ก็ยังเรียกให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมได้ (ม.1005)

☺ ตั๋วเงินตามกฎหมาย มี 3 ชนิด คือ

1. ตั๋วแลกเงิน คือ หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จ่าย” ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน” (ม.908) ตั๋วแลกเงินจะต้องมีข้อความบอกว่าเป็น “ตั๋วแลกเงิน” ซึ่งอาจจะใช้ภาษาใดก็ได้ มีคำสั่งอันปราศจากเงื่อนไข ระบุชื่อผู้สั่งจ่ายเงินแก่ผู้รับเงิน หรือ “ผู้ถือ” เป็นจำนวนเงินอันแน่นอนตามวันและสถานที่ใช้เงิน พร้อมทั้งลงวัน เดือน ปีกำหนดใช้เงิน (ถ้าไม่มี ถือว่าใช้เงินเมื่อได้เห็น) / สถานที่ออกตั๋วเงิน มีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน วันและสถานที่ออกตั๋ว และที่สำคัญคือต้องมีลายมือผู้สั่งจ่ายด้วย หากขาดรายการหนึ่งรายการใด ย่อมไม่ใช่ตั๋วแลกเงินตามกฎหมาย
2. ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน”
อย่างไรตาม การที่ผู้สั่งจ่ายไม่ลงวันที่ในตั๋วเงิน แสดงว่ายอมให้ผู้มีสิทธิในตั๋วนั้นลงวันที่ได้โดยสุจริต ตั๋วเงินนั้นย่อมสมบูรณ์
ตั๋วสัญญาใช้เงินจะต้องมีข้อความบอกว่าเป็น “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” มีคำมั่นอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน มีวัยถึงกำหนดใช้เงิน (ถ้าไม่มี ถือว่าใช้เงินเมื่อเห็น) / มีสถานที่ใช้เงิน (ถ้าไม่มี ให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว) / มีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน วันและสถานที่ออกตั๋ว (ถ้าไม่ระบุวันออกตั๋ว ผู้ทรงตั๋วชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต จะจดวันถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ถ้าไม่ได้ระบุสถานที่ออกตั๋วไว้ ให้ถือว่าออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว) และที่สำคัญคือ ต้องลงลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
อนึ่ง ตั๋วสัญญาใช้เงิน ต้องระบุชื่อผู้รับเงินเสมอ จะเป็นตั๋วผู้ถือไม่ได้
3. เช็ค คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน” (ม.987)
เช็คมีลักษณะที่สำคัญต่างจากตั๋วเงินประเภทอื่น คือ ผู้จ่ายเงินตามเช็คคือ ธนาคาร และการจ่ายเงินต้องจ่ายเมื่อทวงถามเท่านั้น
ข้อความในเช็คจะต้องมีคำบอกว่าเป็นเช็ค / มีคำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน / มีชื่อหรือยี่ห้อของธนาคาร / มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินหรือให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ / มีสถานที่ใช้เงิน / วันและสถานที่ออกเช็ค / และลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ถ้าตราสารใดมีข้อความครบถ้วนตามนี้ก็ถือว่าได้มีการออกเช็ค แม้จะไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของธนาคาร หรือผู้ที่มิได้มีเงินฝากในธนาคาร แต่เอาแบบพิมพ์ของธนาคารของผู้อื่นไปใช้ แล้วธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน ผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลังหรือผู้อาวัลต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น เพราะ เอกสารดังกล่าวมีข้อความครบถ้วนเป็นเช็คแล้ว
ถ้าเช็คมีข้อความนอกเหนือไปจากที่กฎหมายระบุ (ม.988) ย่อมเป็นเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อความที่เพิ่มดังกล่าวไม่มีผลอย่างหนึ่งอย่างใดในตั๋วเงินนั้นเลย (ม.899)

☺ หลักสำคัญที่ใช้บังคับร่วมกันสำหรับตั๋วเงินทั้ง 3 ชนิด มีดังนี้ คือ

1. ผู้ใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินนั้น ผู้นั้นต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น (ม.900)
2. ตั๋วเงินย่อมสามารถโอนกันได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้ คือ
2.1 สำหรับตั๋วเงินที่ออกให้แก่ผู้ถือ สามารถโอนให้แก่กันได้ดวยการส่งมอบ (ม.918) ยกเว้นตั๋วสัญญาใช้เงินที่โดยสภาพ ไม่สามารถออกให้แก่ผู้ถือได้ (ม.983 (5))

2.2 สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อผู้รับเงินไว้ชัดแจ้ง สามารถโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังตั๋วเงินนั้นซึ่งจะเป็นการสลักหลังโดยระบุชื่อผู้รับประโยชน์ หรือเป็นการสลักลอยก็ได้ คือ สลักหลังลงลายมือชื่อของตนโดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ (ม.919)

☺ การอาวัล คือ การค้ำประกันความรับผิดชอบตามตั๋วเงิน ผู้รับอาวัลนั้นจะเป็นบุคคลภายนอกหรือเป็นคู่สัญญาคนใดคนหนึ่งในเช็คนั้นก็ได้ (ม.938)
แบบของการรับอาวัล
1. เขียนด้วยถ้อยคำสำนวน “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังของเช็คก็ได้ และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล ในกรณีที่คำรับอาวัลไม่ได้ระบุว่าประกันผู้ใดนั้น กฎหมายให้ถือว่าเป็นประกันผู้สั่งจ่าย (ม.939 วรรคท้าย)
2. เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้อาวัลในด้านหน้าของเช็ค โดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆ เลยก็มีผลเป็นการอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (ม.939 วรรคสาม)
3. การสลักหลังเช็ค ซึ่งเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ ย่อมเท่ากับเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายแล้ว (ม.921)
ความรับผิดของผู้รับอาวัล ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกับบุคคลที่ตนประกัน
(ม.940)

สิทธิไล่เบี้ยของผู้รับอาวัล

เมื่อผู้รับอาวัลใช้เงินตามเช็คแล้ว ผู้รับอาวัลมีสิทธิในอันที่จะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนประกันไว้ได้
(ม.940 วรรคท้าย) ในการไล่เบี้ยนี้ ผู้รับอาวัลมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ซึ่งตนค้ำประกันได้เต็มจำนวนตามที่ตนได้ชำระหนี้แทนไป
เช็คขีดคร่อม คือ เช็คที่มีเส้นขนานคู่ ขีดขวางไว้ข้างหน้า ซึ่งในระหว่างเส้นขนานนั้น อาจจะมีข้อความอยู่ในระหว่างเส้นคู่ขนานสั้นหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
1. เช็คขีดคราอมทั่วไป คือ เช็คที่ในระหว่างเส้นคู่ขนานนั้นไม่มีข้อความใดๆ เขียนไว้เลย หรือมีข้อความคำว่า “และบริษัท” หรือ “And Co.” หรือ “& Co.” หรือคำย่ออื่นๆ ซึ่งไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจง
(ม.994 วรรคหนึ่ง)
2. เช็คขีดคร่อมเฉพาะ คือ เช็คที่ในระหว่างเส้นคู่ขนาน จะมีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงลงไป (ม. 994 วรรคท้าย)
การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อม ธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้แก่ธนาคารเท่านั้น จะจ่ายโดยตรงให้แก่บุคคลที่นำเช็คนั้นมาขึ้นเงินไม่ได้ เช็คขีดคร่อมจึงให้ประโยชน์ในด้านความปลอดภัยมาก
หุ้นส่วนและบริษัท
คือ การทำสัญญาระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยประสงจะแบ่งปันกำหรที่จะพึงได้จากกิจการนั้น (ม.1012)

☺ ประเภทของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้ที่เข้าร่วมทำสัญญาจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งป่วงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด (ม.1025) กล่าวคือ
1. ผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินของห้างอย่าง “ลูกหนี้ร่วม” ในหนี้สิ้นจองห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าจะโดยสัญญาหรือละเมิดที่ทำไปในกิจการของห้าง
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญทุกคนต้องรับผิดในหนี้สิ้นของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน
ด้วยเหตุนี้ คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญ จึงเป็นสาระสำคัญ เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งไปทำสัญญาหรือได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าของห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนย่อมต้องผูกพันในการนั้นๆ ด้วย และต้องรับผิดในหนี้ร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน (ม.1050)

☺ การจัดการห้างหุ้นส่วนสามัญ

1. การจัดการโดยตรง กล่าวคือ หุ้นส่วนทุกคนเข้าบริหารงานเอง โดยอาจแบ่งหน้าที่กันทำ หรืออาจจะมอบหมายให้หุ้นส่วนคนใดหรือหลายคนเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น หรืออาจร่วมกันจ้างบุคคลภายนอกมาเป็นผู้ดำเนินงานห้างหุ้นส่วนก็ได้
2. การดูแลครอบงำ ได้แก่ กรณีที่ตั้งให้หุ้นส่วนคนเป็นผู้จัดการแล้ว อำนาจในการจัดการดูแลกิจการต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนย่อมเป็นของผู้จัดการนั้น แต่หุ้นส่วนที่ไม่ใช่ผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของห้างหุ้นส่วนที่จัดการอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชีและเอกสารใดๆ ของห้างหุ้นส่วนได้ด้วย (ม.1037)

☺ สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน

1. ห้ามประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีสภาพเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วน (ม.1038 วรรค หนึ่ง)โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ถ้าฝ่าฝืน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ มีสิทธิเรียกเอาผลกำไรที่ผู้ฝ่าฝืนหามาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้นก็ได้ (ม.1038 วรรคสอง)
2. ห้ามนำบุคคลอื่นเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดทุกคน (ม.1040) เช่น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งตาย หุ้นส่วนสามัญต้องเลิกกัน เว้นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นยอมให้มีคนรับโอนหุ้นนั้นต่อมาได้ ก็คงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไป
3. ขอให้งดใช้ชื่อ ถ้ามีการใช้ชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมาตั้งเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน เมื่อผู้นั้นออกจากห้างหุ้นส่วนไปแล้ว อาจขอให้งดใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนต่อไปได้ (ม.1047) มิฉะนั้นตนอาจต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนว่าตนยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ (ม.1054)
4. ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้เป็นผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ให้ใช้กฎหมายเรื่องตัวแทนมาบังคับ (ม.1042) เว้นแต่กรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับหุ้นส่วนได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว (ม.1042) เช่น หุ้นส่วนผู้จัดการไปลงนามแทนห้าง ห้างต้องรับผิดด้วย

☺ ความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอก

1. ผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนจะถือเอาสิทธิใดๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการการค้าขาย ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นไม่ได้ (ม.1049)
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการใดๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น (ม.1050) แม้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ จะมิได้รู้เห็นในกิจการที่ทำไปนั้นเลยก็ตาม ก็ต้องรับผิดร่วมกัน นอกจากนี้ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกนี้รวมถึงความรับผิดในทางละเมิดด้วย (ม. 1051, 1052)
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เป็นหุ้นส่วนสามัญ ต้องรับผิดในหนี้ของห้างที่ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วน และแม้ผู้เป็นหุ้นส่วนจะออกไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างได้ก่อให้เกิดขึ้น ก่อนที่ตนจะได้ออกจากห้างหุ้นส่วนไป (ม.1051 ,1052)

☺ การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ

1. การเลิกโดยผลของกฎหมาย (ม.1055) ได้แก่
1.1 ถ้าในสัญญากำหนดกรณีที่จะเลิกกันไว้
1.2 เมื่อถึงกำหนดเวลาที่สัญญาเป็นหุ้นส่วนกัน เว้นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายยังคงดำเนินกิจการกันต่อไปโดยไม่มีการชำระบัญชีกัน ก็ถือว่าหุ้นส่วนทั้งหลายตกลงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา (ม.1059)
1.3 ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อกิจการใด เมื่อเสร็จกิจการนั้นแล้ว
1.4 ในกรณีที่การเป็นหุ้นส่วนไม่ได้กำหนดเวลาไว้ เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดบอกเลิกสัญญาการเป็นหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น (ม.1056) แต่ถ้าหุ้นส่วนอื่นยังไม่อยากเลิก โดยรับซื้อหุ้นของผู้ที่ประสงค์จะออกไว้ ห้างหุ้นส่วนก็ไม่เลิกกัน (ม.1060)
1.5 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนต้องเลิกกัน เว้นแต่หุ้นส่วนคนอื่นจะรับซื้อหุ้นนั้นไว้ แล้วตกลงดำเนินกิจการต่อไป (ม.1060)
2. การเลิกโดยความประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วน เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดบอกเลิกสัญญาการเป็นหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น (ม.1056) เว้นแต่มีเหตุอื่น เช่น เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดบอกเลิกสัญญาการเป็นหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น (ม.1056)ผู้หนึ่งผิดสัญญา หรือไม่มีผู้ดูแลกิจการทำให้เกิดความเสียหาย ก็ขอให้เลิกได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 6 เดือน
3. การเลิกโดยคำสั่งศาล เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนร้องขอต่อศาล ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกันได้ เมื่อมีเหตุต่อไปนี้ คือ
3.1 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
3.2 เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนมีแต่จะขาดทุนและไม่มีหวังที่จะฟื้นตัวได้อีก
3.3 เมื่อมีเหตุอื่นใดที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จำดำรงอยู่ต่อไปได้

☺ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ

เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันแล้ว ต้องมีการรวบรวมบรรดาทรัพย์สินทั้งหลายของห้างหุ้นส่วน เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของห้าง ถ้ามีเหลือก็ให้คืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน และถ้ายังเหลืออีกก็นำมาแบ่งกำไรกัน ซึ่งเรียกว่า “การชำระบัญชี” (ม.1062) แต่ถ้าได้ชำระหนี้กาบุคคลภายนอกและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว สินทรัพย์ที่เหลืออยู่ยังไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ครบจำนวนที่ลงทุนเรียกว่า “ขาดทุน” ต้องเฉลี่ยการขาดทุนในระหว่างหุ้นส่วนด้วยกัน (ม.1063)

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญ กฎหมายไม่บังคับว่าต้องจดทะเบียน แต่ถ้าประสงค์จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ย่อมทำได้ การขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นเป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนด (ม.1064 การขอจดทะเบียนให้นำมาตรา 1014 – 1024 มาใช้บังคับ) เมื่อจดทะเบียนแล้วต้องใช้คำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ประกอบด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะมีความผิด

☺ ผลของการจดทะเบียน

1. ห้างหุ้นส่วนมีสภาพเป็นนิติบุคคล การเป็นนิติบุคคลทำให้มีสิทธิและหน้าที่แยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน (ม.1015) มีชื่อสัญชาติ และภูมิลำเนาเป็นของตนเอง และมีสิทธิดำเนินคดีในศาลในนามของห้างเองด้วย
2. การถือเอาประโยชน์ต่อบุคคลภายนอก การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนต้องมีชื่อ วัตถุประสงค์ ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ ตลอกจนอำนาจหน้าที่และข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ม.1021) และถือว่าบุคคลทั่วไปได้รู้แล้ว (ม.1022) ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์ต่อบุคคลภายนอกอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการที่ไม่ปรากฏชื่อของตนได้ (ม.1065)
3. ห้ามหุ้นส่วนทำการค้าขายแข่งขันกับกิจการของห้าง (ม. 1070, 1071)

       สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนที่ออกจากห้างหุ้นส่วนนั้นไปแล้ว ยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อขึ้นภายในวัตถุประสงค์ของห้าง และเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะออกจากการเป็นหุ้นส่วน แต่กฎหมายจำกัดให้รับผิดชอบเพียง 2 ปี นับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน (ม.1068)

☺ การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและการชำระหนี้

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุเดียวกันกับการเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญที่ได้จดทะเบียน คือ อาจเลิกโดยผลของกฎหมาย (ม. 1055) เช่น ห้างหุ้นส่วนล้มละลาย (ม.1069) เป็นต้น หรือโดยการตกลงของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือโดยคำสั่งศาล
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเลิกกันแล้ว ต้องมีการชำระบัญชีเสมอไป จะใช้วิธีตกลงกันเองไม่ได้ และผู้ชำระบัญชีต้องนำไปจดทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันที่เลิกกัน (ม. 1254 และ 1270)

3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

☺ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องประกอบด้วยผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ (ม.1077)
1. ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้น ในห้างหุ้นส่วนนั้น จำพวกหนึ่ง และ
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดอีกพวกหนึ่ง

☺ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนเสมอ (ม.1078)

☺ หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด

ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทนี้ มีความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนตกลงจะลงหุ้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทนี้จึงไม่ใช่สาระสำคัญเหมือนกิจการเป็นหุ้นส่วนสามัญ จึงอาจโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนอื่นๆ (ม. 1091) และแม้หุ้นส่วนประเภทนี้ ทายาทย่อมเข้าแทนที่ได้(ม.1093) หรือล้มละลาย ก็ไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกัน (ม.1092)

☺ สิทธิของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด มีดังนี้

1. มีสิทธิออกความเห็นแนะนำ ออกเสียงลงคะแนนในการแต่งตั้งถอดถอนผู้จัดการ (ม.1088 วรรคสอง) ตลอดจนตรวจสอบบัญชีและเอกสารของห้างได้ตามสามควร
2. เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างได้ (ม.1089)
3. มีสิทธิค้าขายแข่งกับห้างได้ (ม.1090)

☺ ข้อจำกัดของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด มีดังนี้
1. ห้ามเอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนกับชื่อห้าง (ม.1081) มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนนั้น ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นประเภทไม่จำกัดความรับผิด
2. หุ้นส่วนประเภทนี้จะลงหุ้นด้วยแรงไม่ได้ ต้องลงเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น (ม.1083)
3. ไม่มีสิทธิจัดการงานของห้าง (ม.1087) ถ้าสอดเข้าจัดการงานของห้าง ต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด (ม.1088) ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีของห้าง
4. ไม่มีส่วนได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ถ้าห้างไม่มีผลกำไร (ม.1084)

☺ ความรับผิด ของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด มีดังนี้ (ม.1095)

ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จะรับผิดในหนี้ที่ห้างมีต่อบุคคลภายนอกก็ต่อเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดได้เลิกกัน ตราบใดที่ห้างยังไม่เลิก เจ้าหนี้จะฟ้องให้รับผิดไม่ได้ และเมื่อห้างเลิกกันแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดคงมีความรับผิดเพียง
1. จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
2. จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
3. จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและผิดกฎหมาย

☺ หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สามารถเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้ (ม. 1087) ใช้ชื่อตนเองเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ (ม.1081) ลงทุนด้วยแรงงานก็ได้ (ม.1083) ความเกี่ยวพันอื่นๆ ก็ให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับ สำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

☺ การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้หลักการเช่นเดียวกับการเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ (ม.1080 วรรคหนึ่ง)
บริษัทจำกัด

☺ การจัดตั้งบริษัทจำกัด

1. ผู้เริ่มก่อการอย่างน้อย 7 คน ร่วมตกลง โดยเข้าชื่อกันทำ “หนังสือบริคณห์สนธิ” (ม.1097) ซึ่งได้แก่เอกสารที่มีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด (ม.1098) และเป็นตราสารจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย
2. นำหนังสือบริคณห์สนธิที่ลงลายมือชื่อผู้ก่อการทั้งหมด หรือลายมือชื่อพยานรับรอง 2 คน ไปจดทะเบียนที่หอทะเบียนการค้า ในเขตที่บริษัทตั้งอยู่
3. นำหุ้นออกให้จองหรือให้เข้าชื่อซื้อหุ้นจนครบ โดยออกหุ้นในราคาไม่ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ และห้ามชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น (ม. 1102 และ 1105)
4. เมื่อหุ้นที่จะต้องลงเงินนั้นได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหมดแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องนัดบรรดาผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมาประชุมกัน ซึ่งเรียกว่า “ประชุมตั้งบริษัท” (ม.1107) เพื่อให้มีการตกลงในเรื่องต่างๆ เช่น ข้อบังคับบริษัท (ม.1110)
5. กรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง จะรับมอบหมายงานจากผู้เริ่มก่อการไปดำเนินการต่อ โดยให้จัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหลาย ใช้เงินในหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น
(ม.1105)
6. เมื่อมีการชำระค่าหุ้นตามกำหนดแล้ว กรรมการบริษัทต้องไปขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยระบุรายการตามที่กฎหมายกำหนด (ม.1111) การฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของบริษัทต้องฟ้องบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ฟ้องผู้ก่อตั้งในฐานะส่วนตัว
7. ถ้ากรรมการบริษัทไม่ดำเนินการจดทะเบียนภายใน 3 เดือนนับแต่มีการประชุมจัดตั้งบริษัท ถือว่าบริษัทนั้นไม่มีการตั้งขึ้น (ม.1112) ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่ได้รับไว้เต็มจำนวน

☺ การเลิกบริษัทจำกัด

1. การเลิกโดยผลของกฎหมาย (ม.1236)
1.1 ถ้าในข้อบังคับของบริษัทกำหนดกรณีที่จะเลิกกันไว้ เมื่อมีกรณีนั้นเกิดขึ้น
1.2 เมื่อถึงกำหนดที่ตั้งขึ้นไว้
1.3 ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการใด เมื่อกิจการนั้นเสร็จแล้ว
1.4 มีมติพิเศษให้เลิก คือ มีการลงมติในการประชุมเป็นลำดับ 2 ครั้ง ครั้งแรก มีมติไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมด และครั้งที่ 2 มีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 (ม. 1194)

1.5 เมื่อบริษัทล้มละลาย
2. การเลิกโดยคำสั่งศาล (ม.1237)
2.1 ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานการประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
2.2 ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการ 1 ปีเต็ม
2.3 เมื่อการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังฟื้นตัวได้
2.4 เมื่อจำนวนผู้ถือหุ้นลดลงจนเหลือไม่ถึง 7 คน

☺ เมื่อบริษัทเลิกแล้ว ต้องมีการชำระบัญชีให้เสร็จ นำความไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกบริษัท (ม.1254) เมื่อชำระบัญชีเสร็จแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานแล้วเรียกประชุมใหญ่เพื่อให้ที่ประชุมอนุมัติ (ม. 1270 วรรคหนึ่ง) เมื่อที่ประชุมอนุมัติแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำความนั้นไปจดทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันประชุม (ม.1271) เป็นอันเสร็จการ
ครอบครัว

☺ การหมั้น

1.ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ (ม.1435) ถ้าการหมั้นกระทำโดยฝ่าฝืนมาตรา 1435 ผลคือ การหมั้นตกเป็นโมฆะ (ม.1435 ว.2)
2. ผู้เยาว์ทำการหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองด้วย (มาตรา 1436) ถ้าการหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าว การหมั้นนั้นตกเป็นโมฆียะ

☺ แบบของการหมั้น

การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งหมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น (มาตรา 1437) สัญญาหมั้นเป็นสัญญาพิเศษผิดกับสัญญาธรรมดา ฉะนั้น หากมีการหมั้นแต่ฝ่ายชายไม่มีของหมั้นมามอบให้หญิงแล้ว แม้จะมีการผิดสัญญาหมั้นก็จะฟ้องเรียกค่าทดแทนฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้

☺ ของหมั้น

ลักษณะสำคัญของของหมั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
1.ต้องเป็นทรัพย์สิน (สิทธิเรียกร้อง ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นของหมั้นได้)
2.ต้องเป็นของที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
3.ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
4.ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นและต้องให้ไว้ก่อนสมรส ถ้าให้เมื่อหลังสมรสแล้วทรัพย์นั้นไม่ใช่ของหมั้น

☺ การรับผิดตามสัญญาหมั้น

เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย (มาตรา 1439)

☺ สินสอด

เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (มาตรา 1437 ว.3)

☺ ผลของการหมั้น

1. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง (ม.1440)
1.1 ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
1.2 ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดา มารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะบิดา มารดา ได้ใช้หรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
1.3 ค่าทดแทนความเสียหายที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยคาดหมายว่าจะมีการสมรส
2. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่น ถ้าหากชายอื่นมาล่วงเกินหญิงคู่หมั้น
2.1 การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยหญิงคู่หมั้นยินยอมมีหลัก คือ (ม.1445)
(1) ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น
(2) ชายอื่นนั้นรู้หรือควรรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นแล้วและรู้ด้วยว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(3) ชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว
2.2 การที่ชายอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้น มีหลัก คือ (ม.1446)
(1) ชายอื่นจะต้องรู้ว่าหญิงมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(2) ชายคู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อน

ข้อสังเกต หญิงคู่หมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาล่วงเกินชายคู่หมั้นทางประเวณี จะนำมาตรา 1445 และมาตรา 1446 มาอนุโลมใช้บังคับไม่ได้
3. สิทธิเกี่ยวกับของหมั้น ทรัพย์สินของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของหญิงในทันที แต่มีบางกรณีฝ่ายหญิงอาจต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายก็ได้

กรณีที่ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงโดยไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย มีดังนี้
1. เมื่อฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น (ม. 1439) เช่น ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับหญิง
2. เมื่อชายหรือหญิงตายก่อนสมรส (ม.1441)
3. เมื่อหญิงบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่ชาย (ม.1443)
กรณีที่หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย มีดังนี้ คือ
1. เมื่อหญิงผิดสัญญาหมั้น (ม. 1439)
2. เมื่อชายบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิง (ม.1442)

อนึ่ง การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้ามีข้อตกลงเรื่องค่าปรับในกรณีผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (ม.1438)

การสิ้นสุดของการหมั้น

1. กรณีที่คู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส
2. กรณีมีการบอกล้างสัญญาหมั้น
3. กรณีที่มีการสมรส
4. การสิ้นสุดโดยการบอกเลิกสัญญา
5. การสิ้นสุดโดยความยินยอมของทั้งชายและหญิง

☺ การสมรส

เงื่อนไขการสมรส
1.การสมรสจะทำได้ในระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น และจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (ม.1448)
2. หากผู้เยาว์จะทำการสมรส ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลตาม มาตรา 1454,1455 เสียก่อน
3. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1449 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495
4. ชายและหญิงมิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดา หรือมารดา ตามมาตรา 1450 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา1495
5.ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ตามมาตรา1451แต่กฎหมายมิได้บัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อนี้เป็นโมฆะหรือโมฆียะ เนื่องจากผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมไม่มีความสัมพันธ์ในทางสายโลหิตกันเลย และมีมาตรา 1598/32 บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451 จึงทำให้การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทุกประการ
6. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ ตามมาตรา 1452 การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495
7.หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อขาดจากการสมรสเดิมแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 1453
8. ชายและหญิงยินยอมสมรสกัน (ม. 1458) โดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
แบบแห่งการสมรส การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น ตามมาตรา 1457

☺ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

1. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
2. การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน หากสามีภริยาไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามสาควร อีกฝ่ายหนึ่งย่อมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 หรือหากประสงค์จะหย่าขาดจากกันก็อาจฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1598/41
3. การแยกกันอยู่ต่างหากชั่วคราว
3.1 สามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ ข้อตกลงเช่นว่านี้ใช้บังคับได้ เมื่อสามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหากจากกันแล้วสามีภริยาต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจึงจะทำการสมรสใหม่ไม่ได้ ผลของข้อตกลงนี้มีเพียงทำให้การแยกกันอยู่นี้แม้จะเป็นเวลาเกิน 1 ปี กไม่ถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้าง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงจะมาอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (4) ไม่ได้ แต่ถ้าหากการตกลงแยกกันอยู่นี้ เป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขและสามีภริยาได้แยกกันอยู่แล้วเป็นเวลาเกิน 3 ปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (4/2)
3.2 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 1462
(1) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น
(2) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีชอบพาพาร์ทเนอร์มานอนบ้านเป็นประจำ เป็นการทำลายจิตใจของภริยาอย่างมาก เป็นต้น
(3) การอยู่ร่วมกันจะเป็นการทำลายความผาสุขอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีเป็นคนวิกลจริตมีอาการดุร้ายเป็นที่หวาดกลัวแก่ภริยา แต่เนื่องจากยังไม่ครบกำหนด 3 ปี จึงฟ้องหย่าไม่ได้ ภริยาก็อาจมาร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากจากสามีเป็นการชั่วคราวได้
3.3 การสิ้นสุดของการแยกกันอยู่
(1) สามีภริยาตกลงกันยกเลิกการแยกกันอยู่
(2) สามีภริยาหย่าขาดจากกัน
(3) สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย

☺ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

1. สินส่วนตัว ตามมาตรา 1471 ได้แก่ทรัพย์สิน
1.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินเช่นว่านี้จะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายนั้นแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของคู่สมรสฝ่ายใด แม้จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องได้กรรมสิทธิ์มาในภายหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส
1.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
1.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ทรัพย์สินเหล่านี้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาผู้ที่ได้รับมาทั้งสิ้น ไม่ถือว่าเป็นสินสมรส ทั้งๆ ที่ได้มาระหว่างสมรส
1.4 ในกรณีที่สามีหรือภริยาได้รับรางวัลจากการกระทำสิ่งใดหรือจากการประกวดชิงรางวัล รางวัลที่ได้รับมานั้นเป็นสินส่วนตัว
1.5 ทรัพย์ที่เป็นของหมั้น เป็นสินส่วนตัวของภริยา
1.6 ของแทนสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้นถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาด้วยเงินสินส่วนตัวก็ดี หรือขายสินส่วนตัวได้เงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นยงคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามเดิม เพราะเป็นไปตามหลักในเรื่องช่วงทรัพย์ ตามมาตรา 226 วรรคสอง หรือสินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน
1.7 การจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ ตามมาตรา 1473
2. สินสมรส ตามมาตรา 1474 มีอยู่ 3 ชนิดคือ
2.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่ นอกจากนี้การที่สามีภริยาแยกกันอยู่หรือทิ้งร้างกันโดยไม่ได้หย่าขาดจากกันโดยเด็ดขาด ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนั้นก็ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย
2.2 ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือ ทรัพย์สินเช่นว่านี้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นตามมาตรา 1471 (3) แต่หากเจ้ามรดกหรือผู้ให้ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงจะเป็นสินสมรส
2.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

☺ การจัดการสินสมรส
 
(1) หลัก สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญจึงจะต้องจัดการร่วมกัน ตามมาตรา 1476
(2) สามีภริยาเพียงคนเดียวมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรส ตามมาตรา 1477
(3) ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไห้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสที่สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมได้ ตามมาตรา 1478
(4) ถ้าสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสที่สำคัญไปโดยลำพัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1480 แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวอาจจะเป็นที่เสียหายแก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้นมาตรา 1480 จึงได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งการเพิกถอนนิติกรรมนั้นจะไปกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นไม่ได้
มาตรา 1480 วรรคท้าย กำหนดให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมนั้นจะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่รู้ว่าได้มีการทำนิติกรรมหรืออย่างช้าภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม
(5) สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ ตามมาตรา 1481
(6) สามีหรือภริยาโดยลำพังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวได้เสมอ ตามมาตรา 1482
(7) สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งห้ามคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิให้จัดการสินสมรสอันจะก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดได้ ตามมาตรา 1483
(8) ถ้ามีเหตุจำเป็น สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือขอให้แยกสินสมรสได้ ตามมาตรา 1484

☺ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง

☺ ความรับผิดในหนี้สินของสามีภริยา

1.หนี้ที่มีมาก่อนสมรส คงเป็นหนี้ที่ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นหนี้ระหว่างกันเองมาก่อนสมรสก็ตาม ก็ยังคงเป็นลูกหนี้กันอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว
2. หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรสอาจจะเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันก็ได้แล้วแต่กรณี ซึ่งโดยหลักแล้วคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้ หนี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นหนี้ของฝ่ายนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 เช่น สามีกู้เงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ก็เป็นหนี้ส่วนตัวของสามีแต่ถ้ากู้เงินมาเพื่อให้การศึกษาแก่บุตร จึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีและภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน เป็นต้น

☺ หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา

ตามมาตรา 1490 หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน มีอยู่ 4 ชนิด
1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอกถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น หนี้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เป็นสินสมรส เป็นต้น
3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน คู่สมรสจะให้สัตยาบันด้วยวาจาก็ได้

☺ การเอาทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไปชำระหนี้

1. หนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยา ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น ตามมาตรา 1488
2. หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1489

☺ เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

1. การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามรถ (ม.1449+ม.1495)
2.การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา (ม.1450+ม.1495)
3. การสมรสซ้อน (ม.1452+ม.1495)
4. การสมรสที่ชายหญิงไม่ยอมเป็นสามีภริยากัน (ม.1458+ม.1495)
คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา1458 เป็นโมฆะ (ตามมาตรา 1496)

☺ ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ

1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ตามมาตรา 1498
2. การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ทำให้คู่สมรสที่สุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนอีกด้วย ตามมาตรา 1499
3.การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ตามมาตรา 1500
4. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1536 มาตรา 1538 และมาตรา 1499/1

☺ การสิ้นสุดแห่งการสมรส

1. การสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ความตายในที่นี้ หมายความถึง ความตายตามธรรมชาติ ไม่ได้หมายความถึงความตายโดยผลของกฎหมาย หรือการสาบสูญซึ่งเป็นเพียงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (5)
2.การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

☺ เหตุที่ทำให้หารสมรสเป็นโมฆียะ

1.การสมรสที่ชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ (ม.1448+ม.1504)
2.การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส (ม.1505)
3.การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล (ม.1506)
4.การสมรสโดยถูกข่มขู่ (ม.1507)
5.การสมรสของผู้เยาว์ที่มิได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง (ม.1509+1510)

☺ ผลของการเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ

1.การสมรสที่เป็นโมฆียะย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน
(ม. 1511)
2.ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และกำหนดการปกครองบุตรเช่นเดียวกับการหย่าโดยคำพิพากษา (ม.1512)
3.มีการชดใช้ค่าเสียและค่าเลี้ยงชีพ (ม.1513)

☺ การหย่า

1.การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย มีหลักดังนี้
1.1 ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และ
(ม.1514)
1.2 การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่า(ม.1515)
2.การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล โดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516

☺ การแบ่งทรัพย์สิน เมื่อหย่ากันแล้วให้แบ่งทรัพย์สินโดยให้ใช้และหญิงมีส่วนเท่าๆ กัน (1533) และในกรณีที่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดร่วมกันก็ให้แบ่งแยกความรับผิดนั้นออกเป็นส่วนๆ เท่ากัน (ม.1535)

☺ การรับบุตรบุญธรรม

หลักเกณฑ์ในการรับบุตรบุญธรรม (ม.1598/19)
1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
2. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตลบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
3. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้เยาว์ก่อน ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน
4. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ในการรับหรือเป็นบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
5. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
6. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

☺ สิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรม

1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น (ม.1598/28)
2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ทำนองเดียวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.1563)

☺ สิทธิและหน้าที่ของผู้รับบุตรบุญธรรม

1.มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม
2. ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม ในฐานะทายาทโดยธรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าบุตรบุญธรรมตายก่อนโดยไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดก เพียงเท่าที่ยังคงเหลืออยู่หรือภายหลังจากชำระหนี้กองมรดกแล้ว (ม.1598/29 และ ม.1598/30)
3. ผู้รับบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

☺ การเลิกรับบุตรบุญธรรม

1. โดยความตกลง(ม.1598/3)แต่จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
2. การเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืน มาตรา 1598/32
3. การเลิกรับโดยคำสั่งศาล (ม.1598/33) และมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะยกขึ้นอ้างบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อจดทะเบียนแล้ว
มรดก

☺ การตกทอดแห่งมรดก

เมื่อบุคคลใดตายมรดกตกทอดแก่ทายาท (มาตรา 1599) และมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตาม มาตรา 1600 และมรดกของผู้ตายนี้ย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความโดยทายาทไม่ต้องแสดงเจตนาสนองรับ

☺ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่

1. ทรัพย์สินและสิทธิ คำว่า “ทรัพย์สิน” มีความหมายตามมาตรา 137 และมาตรา 138 คือวัตถุที่มีรูปร่าง รวมทั้งวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ทรัพย์สินและสิทธิต้องเป็นของผู้ตายระหว่างมีชีวิต เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจึงตกทอดเป็นมรดก ถ้าทรัพย์สินนั้นไม่เป็นของผู้ตายแล้วก่อนตายย่อมไม่เป็นมรดก
2.หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ทายาทต้องรับเอาไปทั้งหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ด้วย เว้นแต่ทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดนั้นโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย

☺ ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย
1. ทายาทโดยธรรม ได้แก่บุคคลตามมาตรา 1629
2. ทายาทโดยพินัยกรรม

☺ การเป็นทายาท ตามมาตรา 1604
1.ทายาทที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น ต้องมีสภาพบุคคล คือ เริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตายตามมาตรา 15 วรรคแรก เหตุนี้ แม้ก่อนตายบุคคลใดเป็นทายาทแต่บุคคลนั้นตายก่อนเจ้ามรดกก็ย่อมไม่สามารถเป็นทายาท
2.ทารกในครรภ์มารดาขณะที่บิดาตาย แม้จะยังไม่คลอดยังไม่มีสภาพบุคคลก็มีสิทธิรับมรดกบิดาได้ ถ้าคลอกมาแล้วอยู่รอด

☺ การถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก เพราะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1605
ถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย
ไม่อาจถอนข้อกำจัด (ให้อภัย) ได้ตาม
ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดสืบมรดกต่อได้ ตามมาตรา1607 และ ฎ.478/2539

1. การกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามมาตรา 1605 เป็นบทบัญญัติให้ทายาทเสียสิทธิในมรดกโดยผลของกฎหมาย และเป็นการเสียสิทธิเพราะปิดปังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ซึ่งการปิดบังและยักย้ายได้กระทำขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายแล้ว ต่างกับการถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา1606 ซึ่งอาจเกิดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายแล้วก็ได้
⇑ การถูกกำจัดตามมาตรานี้ ถ้าผู้ถูกกำจัดมีผู้สืบสันดานๆ ของผู้ถูกกำจัดนั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ถูกกำจัดได้ตามมาตรา 1607
2. คำว่า ทายาท ตามมาตรานี้หมายถึง ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม ตามมาตรา1603 และมาตรา 1651 (1) เพราะมาตรา 1605วรรคท้ายยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับเฉพาะผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งอย่างตามมาตรา 1651(2) เท่านั้น

☺ ผลของการถูกกำจัดตามมาตรา 1605 ดังนี้
1. ยักย้ายหรือปิดบังเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่ามีผลทำให้ทายาทผู้นั้นถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกทั้งหมด
2. ยักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ มีผลทำให้ทายาทผู้นั้นถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบัง
3. กรณีที่ผู้ตายมีทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เช่นนี้แม้ทายาทคนเดียวนั้นจะยักย้ายหรือปิดปังทรัพย์มรดกจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ก็ไม่มีทางถูกกำจัดมิให้รับมรดก ทั้งนี้เพราะมรดกนั้นเป็นของทายาทผู้นั้นแต่ผู้เดียว การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีทายาทอื่นที่จะต้องเสื่อมเสียประโยชน์
4. ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ผู้รับพินัยกรรมโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว เพื่อเคารพเจตนาของผู้ตาย แม้ผู้รับพินัยกรรมคนนั้นจะไปยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกสิ่งอื่นโดยฉ้อฉล ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกทรัพย์เฉพาะสิ่งตามพินัยกรรมนั้น
5. การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ต้องเกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายแล้วอันเป็นการฉ้อฉลทายาทอื่น และไม่อาจถอนข้อกำจัดโดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา1606 วรรคท้ายได้ เพราะเจ้ามรดกได้ตายไปก่อนแล้ว อีกทั้งจะทำหนังสือให้อภัยไว้ล่วงหน้าก็ไม่ได้ เพราะการให้อภัยตามมาตรา 1606 วรรคท้าย ให้ทำได้เฉพาะการกำจัดมิให้ได้มรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรเท่านั้น

☺ การถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามมาตรา 1606
อนุมาตรา(1) ฆ่าหรือพยายามฆ่าเจ้า
ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ได้ (ม.1639)
ถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย
อนุมาตรา(2) ฟ้องเจ้ามรดกฯ
อนุมาตรา(4) ฉ้อฉลหรือข่มขู่

ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ไม่ได้ (ม.1639)
อนุมาตรา(3) มิได้ร้องเรียนเอาตัวผู้ฆ่าเจ้า
ถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย
อนุมาตรา(4) ผู้ที่ปลอม ทำลายปิดบังพินัยกรรม
ถูกกำจัดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายก็ได้

☺ การตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608
1. การตัดทายาทโดยธรรมด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง และระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดโดยชัดแจ้ง มีผลทำให้ทายาทโดยธรรมผู้นั้นไม่มีสิทธิ์รับมรดก และผู้สืบสันดานของผู้ถูกตัดก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่เลย เพราะในกรณีดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้รับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกต่อไปได้
แบบการตัดมิให้รับมรดกต้องทำตามแบบหนึ่งแบบใดดังต่อไปนี้
1. โดยพินัยกรรม ซึ่งเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายของเจ้ามรดก ผู้ทำพินัยกรรมตามมาตรา 1646 และต้องทำตามแบบมาตรา 1648, 1655 มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705
2. โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้แก่นายอำเภอ
2. ให้กรณีให้ถือว่าเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมด โดยทายาทโดยธรรมบางคนหรือทั้งหมด ไม่มีชื่อได้รับส่วนแบ่งมรดกนั้นเลย และในพินัยกรรมก็ไม่มีข้อความตัดทายาทโดยธรรมนั้นโดยชัดแจ้งและระบุชื่อผู้ถูกตัดนั้นโดยชัดเจน มาตรา 1608วรรคท้าย ให้ถือว่าทายาทโดยธรรมนั้นเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เพราะเมื่อพินัยกรรมมีผลบังคับ ทายาทโดยธรรมนั้นไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1620,1673
แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกบางส่วน หรือเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างให้แก่ผู้รับพินัยกรรมและมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมที่จะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการตัดทายาทโดยธรรม เพราะมิได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1608 วรรคท้าย และกรณีต้องบังคับตามมาตรา 1620 คือ ให้ปันส่วนทรัพย์มรดกที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายต่อไป

☺ แบบการถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1609 วรรคสอง
1. ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำโดยพินัยกรรม ก็ต้องถอนโดยพินัยกรรม ซึ่งอาจกระทำโดยการเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม ตามมาตรา1693 ถึงมาตรา 1697 จะถอนโดยวิธีอื่น เช่น โดยไปทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้
2. ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ต้องถอนโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือโดยพินัยกรรมก็ได้

☺ การสละมรดก ตามมาตรา 1612
1. การสละมรดกนั้นเป็นเหตุให้ทายาทเสียสิทธิในมรดกโดยเกิดจากการแสดงเจตนาชัดแจ้งของทายาท
- ทายาทที่จะสละมรดกได้ทายาทผู้นั้น ต้องมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแล้ว และคำว่าทายาท หมายถึงทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมด้วย ถ้าทายาทคนใดสละมรดกทั้งๆ ที่ตนยังไม่มีสิทธิ เพราะเจ้ามรดกยังไม่ตาย ถือว่าเป็นการสละสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า เช่นทำสัญญาประนีประนอมยอมความสละมรดกตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ หาอาจจะทำได้ไม่ตามมาตรา 1619
-การสละมรดกต้องเป็นการสละมรดกส่วนของตนทั้งหมดมิฉะนั้นต้องห้ามตามมาตรา 1613 และการสละมรดกก็ต้องไม่มีเจตนาเจาะจงให้มรดกส่วนของตนที่สละนั้นตกได้แก่ทายาทอื่นคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
- การสละมรดกนั้นจะทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ ตามมาตรา 1613
-หากสละทรัพย์มรดกรายการหนึ่งเพื่อขอเลือกเอาทรัพย์รายการอื่นหรือยอมรับแบ่งทรัพย์ที่มีราคาน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็ไม่ถือว่าทายาทผู้นั้นสละมรดกสำหรับจำนวนส่วนแบ่งที่ขาดไป
-เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน ตามมาตรา 1615 วรรคสอง ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดาน ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นแก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป ตามมาตรา 1618
-เมื่อผู้รับพินัยกรรมสละมรดกตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกส่วนนั้นตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1698 (3) ประกอบมาตรา 1620, 1699 ดังนั้น ผู้สืบสันดานของผู้รับพินัยกรรมจึงไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น ตามมาตรา 1617
2. การสละมรดก อาจทำได้ 2 วิธี คือ
2.1ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ คือ นายอำเภอ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 หนังสือนั้นต้องมีข้อความแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าสละมรดกโดยไม่เคลือบคลุม
2.2 ทำเป็นหนังสือทำนองประนีประนอมยอมความ ตามมาตรา 850, 851

☺ การเพิกถอนการสละมรดก
การสละมรดกที่ได้กระทำโดยชอบด้วยมาตรา 1612 และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1613 วรรคแรกแล้วนั้น แม้ต่อมาทายาทผู้สละมรดกจะแสดงเจตนาเพิกถอนย่อมเพิกถอนไม่ได้ตามมาตรา 1613 วรรคสอง

☺ มาตรา 1622 พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมไม่ได้

ข้อสังเกต
1. ถ้าผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกมาถวายให้แก่พระภิกษุในฐานะทายาทโดยธรรมโดยมิได้เรียกร้องก็ดี หรือพระภิกษุเรียกร้องเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมที่มีผู้อุทิศถวายให้ก็ดี พระภิกษุย่อมรับเอาหรือเรียกร้องตามพินัยกรรมได้โดยไม่ต้องสึกจากสมณเพศ
2. คำว่า พระภิกษุ หมายความถึงบุคคลที่อุปสมบทในศาสนาของพระพุทธเจ้า แต่ไม่กินความรวมถึงแม่ชีและสามเณร
3. ถ้าพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวที่มีสิทธิได้รับมรดก มรดกย่อมตกทอดมายังพระภิกษุทันทีที่เจ้ามรดกตาย หากบุคคลอื่นเบียดบังเอาทรัพย์มรดกนั้นไป พระภิกษุในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีสิทธิติดตามเรียกร้องเอาทรัพย์นั้นคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกได้

☺ ทรัพย์สินของพระภิกษุ ตามมาตรา 1623-1624
-ทรัพย์สินทุกอย่างที่พระภิกษุได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ ไม่ว่าโดยทางใดและจะเพราะได้มาเนื่องจากสมณเพศหรือไม่ก็ตามต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 1623
-แม้พระภิกษุมีคู่สมรสและการบวชไม่เป็นเหตุให้การสมรสขาดกัน และจะถือว่าเป็นการทิ้งร้างกันยังมิได้ก็ตาม ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเขาทำบุญให้พระภิกษุย่อม ไม่ถือว่าเป็นสินมสมรส ตามมาตรา 1474 (1) คู่สมรสจะแบ่งทรัพย์สินนี้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 1533ไม่ได้
- ถ้าพระภิกษุธุดงค์ไปในที่ต่างๆ แล้วมรณภาพลง ทรัพย์สินของพระภิกษุตกเป็นสมบัติของวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด
ถ้าบุคคลนั้นอุปสมบทแล้วสึกจากสมณเพศ แล้วอุปสมบทใหม่หลายโบสถ์ ดังนี้ ทรัพย์สินก่อนอุปสมบถครั้งสุดท้าย ซึ่งแม้จะได้มาระหว่างอุปสมบถครั้งก่อนๆ คงตกได้แก่ทายาทของพระภิกษุ

☺ บุตรนอกกฎหมาย ตามมาตรา 1627
บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองได้แก่
1. เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ซึ่งตามมาตรา 1546 ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงเท่านั้น และ
2. ชายผู้เป็นบิดาได้รับรองเด็กว่าเป็นบุตรของตนโดยพฤตินัย
- บิดาเป็นคนแจ้งในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา
- เมื่อเด็กโตก็ให้การศึกษาให้ความอุปการะเลี้ยงดู
- ยอมให้ใช้นามสกุลของบิดา
- ลงทะเบียนในสำมะโนครัวว่าเป็นบุตร
การรับรองว่าเด็กเป็นบุตรยังอยู่ในครรภ์มารดา เช่น แจ้งให้ญาติผู้ใหญ่ทราบว่า เด็กในครรภ์เป็นบุตรของตน, นำมารดาเด็กไปฝากครรภ์ หรือแนะนำมารดาเด็กให้เพื่อนรู้จักและนำเข้าสังคม เป็นต้น
ข้อสังเกต การที่บิดานอกกฎหมายรับรองการเป็นบุตร หาทำให้บิดานั้นมีสิทธิรับมรดกของบุตร
นอกกฎหมาย

☺ บุตรบุญธรรม ตามมาตรา 1598/28 ประกอบกับมาตรา 1627
บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1627, 1629 (1) และเนื่องจากบุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาผู้ให้กำเนิดและญาติทางครอบครัวที่ได้กำเนิดด้วย ในทางกลับกันบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหรือญาติก็มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่ไปเป็นบุตรบุญธรรมเช่นเดียวกัน
ระวัง บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น แต่หามีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วยไม่ และเพียงแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมให้ความยินยอมก็ไม่ถือว่าคู่สมรสนั้นได้รับบุตรบุญธรรมด้วยตามมาตรา 1598/25,1598/26

☺ การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่างๆ มาตรา 1629
ใช้หลัก ญาติสนิทตัดญาติห่างๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1630วรรคแรก ส่วนคู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมที่ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1629 (1) ถึง (6) และมาตรา 1630 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเสมอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1635
1.ทายาทลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 (1) หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ และต่อจากลื้อลงไป คือ หลีด หลี้ จนขาดสายโดยไม่จำกัดว่าสืบต่อกันกี่ชั้น บุคคลเหล่านี้ต่างเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้ามรดกมีผู้สืบสันดานชั้นบุตร ทำให้ผู้สืบสันดานชั้นหลานหรือชั้นต่อๆ ไป ไม่มีสิทธิรับมรดก เว้นแต่จะรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1631, 1639
2. ทายาทลำดับที่ 2บิดามารดา ตามมาตรา 1629 (2) กรณีของบิดาที่จะมีสิทธิรับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
3. ทายาทลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 (3) บุตรบุญธรรมไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับบุตรเจ้ามรดก (รับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา 1639)
4. ทายาทลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 (4) สามารถรับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา 1639
5.ทายาทลำดับที่ 5ปู่ ยา ตา ยาย ตามมาตรา 1629 (5) ถ้าบุคคลเหล่านี้ตายก่อนเจ้ามรดก ผู้สืบสันดานของบุคคลเหล่านี้ ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ทำได้ตามมาตรา 1639และตามมาตรา 1629 (5) นี้บัญญัติให้ ปู่ ย่า ตา ยาย เท่านั้นเป็นทายาทโดยธรรม ดังนั้น ทวด จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรม
6. ทายาทลำดับที่ 6 ลุง ป้า น้า อา ตามมาตรา 1629 (6) ญาติในลำดับ 6 นั้นย่อมรับมรดกแทนที่กันได้ตามมาตรา 1639

☺ พินัยกรรม

พินัยกรรม เป็นนิติกรรมที่บุคคลหนึ่งได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ อันจะเกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย (ม.1646)
ความสามรถของผู้ทำพินัยกรรม กฎหมายกำหนดว่า ผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25) มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ (ม.1703) นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ หากฝ่าฝืนทำลง พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ม.17)
แบบของพินัยกรรม (ม.1648) มีด้วยกัน 5 ประเภท คือ
1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ (ม.1657)
2. พินัยกรรมแบบธรรมดา (ม.1656)
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658)
4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (ม.1660)
5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (ม.1663)
อนึ่ง การทำพินัยกรรมนั้น แม้ไม่สมบูรณ์ตามแบบหนึ่ง อาจสมบูรณ์ตามแบบอื่นได้

ผู้ที่ไม่อาจเป็นผู้รับพินัยกรรม (ม.1653)
1. ผู้เขียนพินัยกรรม
2. ผู้ที่เป็นพยานในพินัยกรรม
3. คู่สมรสของผู้เขียนหรือคู่สมรสของผู้เป็นพยานในพินัยกรรม
นิติบุคคลอาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ
--------------------------------------------------จบ-----------------------------------------------------


                                      กฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว

แนวคิด


1. หญิงชายจะทำการหมั้นกันได้เมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกัน

2. ผู้เยาว์เมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะทำการสมรสกันได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง

3. บุคคลจะทำการสมรสกันได้นั้น ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือไม่เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกัน

4. บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะ เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ บุตรมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา

5. บุคคลที่รับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

6. บุตรนอกกฎหมายของชายจะมีโอกาสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ด้วยการจดทะเบียนรับรองบุตร

7. ทายาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม ถ้าไม่มีผู้ใดเป็นทายาทรับมรดกของผู้ตาย มรดกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน



ขณะนี้นักเรียนเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ในแต่ละครอบครัวก็มีสมาชิก ซึ่งอยู่สถานภาพต่างกัน ได้แก่ สามี ภรรยา บิดา มารด บุตร สมาชิกทุกคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย นักเรียนเป็นบุตรของบิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตนในฐานะของบุตร บิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตน ต่อไปในอนาคต

นักเรียนก็จะต้องมีโอกาสที่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว มีโอกาสที่จะทำการสมรสและเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของตนเอง ฉะนั้นจึงควรได้ศึกษากฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว เพื่อเป็นประโยชน์กับตนเองและอาจสามารถแนะนำสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

ก่อนที่ชายหญิงจะมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ก็อาจจะเริ่มต้นการผูกพันกันด้วยการหมั้นแล้วจึงทำการสมรส หรือบางคู่อาจจะทำการสมรสกันเลยโดยไม่ต้องหมั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามกฎหมาย นักเรียนกำลังอยู่ในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้ ก็ควรจะได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างพอสมควร เมื่อชายหญิงสมรสกันแล้ว และมีบุตรเกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องรู้สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร และบุตรก็ควรรู้สิทธิหน้าที่ของตนต่อบิดามารดา บางคนไม่มีบิดามารดาแต่มีผู้ปกครอง บางคนมีความจำเป็นจะต้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรับบุตรบุญธรรม บางคนอาจจะมีบุตรโดยที่ยังไม่ถึงวัยอันควรจะแก้ปัญหาได้อย่างไร และเมื่อตายไปแล้วมรดกจะตกเป็นของใครเหล่านี้เป็นต้น


1. การหมั้น

การหมั้น หมายถึง การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน เมื่อเกิดการหมั้นขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาคือไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้

1.1 เงื่อนไขของการหมั้น

1) อายุของคู่หมั่น เกณฑ์ของการหมั้น คือชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุของชายและหญิงจะที่เป็นคู่หมั้น เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกัน จึงควรให้ชายหญิงที่จะเป็นคู่หมั้นอยู่ในวัยที่จะเรียนรู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร กฎหมายถือว่าชายหญิงมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้น การสมรส จึงทำการหมั้นไม่ได้ แม้บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะให้ความยินยอมก็ตาม

2) ผู้เยาว์จะทำการหมั้นกันได้ต้องได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลต่อไปนี้

- บิดามารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา ตัวอย่างเช่น หยาดรุ้งผู้เยาว์อายุ 17 ปี มีความประสงค์จะหมั้นกับเลิศชายอายุ 21 ปี หยาดรุ้งมีบิดามารดาที่มีชีวิต หยาดรุ้งจะต้องได้รับการยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคน มิใช่ได้รับความยินยอมจากบิดาเพียงคนเดียว หรือได้รับความยินยอมจากมารดาเพียงคนเดียว แต่ถ้าเลิศชายซึ่งเป็นฝ่ายชายมีอายุเพียง 18 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้เยาว์ ถึงแม้จะเป็นฝ่ายชายก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคนเช่นกัน

- บิดาหรือมารดา ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งผู้เยาว์ไม่อาจของความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้

กรณีตัวอย่าง แววดาผู้เยาว์อายุ 17 ปี มีความประสงค์จะหมั้นกับเกริกไกร ซึ่งมีอายุ 25 ปี แววดาผู้เยาว์มีมารดาที่มีชีวิตอยู่แต่บิดาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว แววดาจะต้องได้รับความยินยอมจากมารดา หรือถ้าแววดามีแต่บิดาเพราะมารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว แววดาก็ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาแต่เพียงผู้เดียว

- ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

- ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3หรือมี แต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

กรณีตัวอย่าง วริศราผู้เยาว์อายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีความประสงค์จะหมั้นกับเจษฎาอายุ 20 ปี วริศราไม่บิดามารดาแต่มีผู้ปกครองคืนนายโอภาส วริศราจะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาจึงจะทำการหมั้นได้ หรือถ้าวริศราผู้เยาว์มีบิดาเพียงคนเดียว แต่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองโดยศาล เธออยู่ในความปกครองของนายโอภาสก็จะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาสแต่เพียงผู้เดียว บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีอำนาจทำการหมั้นได้โดยตามลำพังตนเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือรับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง เฉพาะแต่ผู้เยาว์เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอม การให้ความยินยอมในการหมั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีไว้ ฉะนั้นบิดามารดา หรือรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองจึงอาจให้ความยินยอม โดยวิธีหนึ่งวิธีใด คือด้วยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษรก็ได้

1.2 ของหมั้นและสินสอดของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและเป็นประกันว่าจะทำการสมรสกับหญิง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงสินสอด คือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรส โดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

กรณีตัวอย่าง นายฟ้าได้หมั้นกับนางสาวเหลือง โดยนายฟ้ามอบแหวนเพชรราคา 50,000 บาทแก่นางสาวเหลืองเป็นของหมั้น แหวนหมั้นจะตกเป็นของนางสาวเหลืองทันที นายฟ้าได้มอบเงินสดจำนวน 100,000 บาทให้แก่บิดามารดาของนางสาวเหลืองเป็นสินสอด เงินสินสอดจำนวนนี้ยังไม่ได้ตกเป็นสิทธิของบิดามารดาของนางสาวเหลือง จนกว่านางสาวเหลืองจะได้ทำการสมรสกับนายฟ้า แต่ถ้านางสาวเหลืองไปยุ่งเกี่ยวฉันชู้สาวกับชายอื่น ทำให้นายฟ้าไม่อาจสมรสกับนางสาวเหลืองได้ นายฟ้าสามารถเรียกสินสอดคืนได้

1.3 ผลของการหมั้น เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

กรณีตัวอย่าง นายหมึกหมั้นกับนางสาวปลา กำหนดในสมรสเรียบร้อยแล้ว นางสาวปลาได้จัดซื้อเครื่องเรือน ที่นอน หมอน มุ้ง เพื่อเตรียมการสมรสคิดเป็นเงิน 10,000 บาท แต่นายหมึกผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนางสาวปลา ดังนั้นนางสาวปลามีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปเนื่องในการเตรียมการสมรสได้ แต่จะฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายหมึกให้ทำการสมรสกับนางสาวปลาไม่ได้

กรณีตัวอย่าง นายน้ำเงินได้หมั้นกับนางสาวชมพู นายน้ำเงินได้มอบแหวนเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาทและรถยนต์ 1 คน ราคา 500,000 บาท ให้แก่นางสาวชมพูเป็นของหมั้น ทั้งกำหนดวันสมรสเรียบร้อยแล้ว นายน้ำเงินได้พิมพ์บัตรเชิญแขกมาในงานสมรสและซื้อเครื่องใช้เพื่อเตรียมการสมรส แต่นางสาวชมพูผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนายน้ำเงิน ดังนั้นนางสาวชมพูจะต้องคืนแหวนหมั้นและรถยนต์ให้แก่นายน้ำเงิน และนายน้ำเงินมีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปในการเตรียมการสมรส ถ้าตกลงกันไม่ได้ต้องให้ศาลตัดสิน เรื่องค่าทดแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์

1.4 การเลิกสัญญาหมั้น การเลิกสัญญาหมั้นด้วยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ย่อมทำได้โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือมีพยานลงลายมือชื่อ เมื่อเลิกสัญญากันแล้วก็กลับคืนสู่ฐานะเดิม ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้น และถ้ามีสินสอดก็ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชายด้วยการเลิกสัญญาหมั้นด้วยเหตุที่คู่หมั้นตาย คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกเอาค่าทดแทนกันไม่ได้ สำหรับของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย

กรณีตัวอย่าง ยุทธนากับทิพย์รักใคร่ชอบพอกัน ยุทธนาได้นำแหวนเพชร 1 วงหมั้นทิพย์ และทิพย์ก็รับหมั้นด้วยความเต็มใจ ถือว่าทั้งสองมีสัญญาหมั้นกันแล้ว ต่อมาคนทั้งสองมีเรื่องบาดหมางใจกันจึงตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกัน ดังนั้นทิพย์ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะต้องคืนแหวนเพชรซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่ยุทธนา

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้าสมมติว่าทั้งยุทธนาและทิพย์หมั้นกันแล้วและไม่ได้บาดหมางใจกัน ยังเป็นคู่หมั้นที่รักกันเหมือนเดิม แต่ต่อมาทิพย์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทางฝ่ายทิพย์ไม่ต้องคืนแหวนหมั้นให้แก่ยุทธนา หรือถ้ายุทธนาเสียชีวิตทิพย์ก็ไม่ต้องคืนแหวนหมั้น

ในกรณีที่ยุทธนาเสียชีวิต ทิพย์จะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายยุทธนาโดยอ้างว่าได้ซื้อเครื่องเรือน เพื่อเตรียมการสมรสเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าทิพย์เสียชีวิต ยุทธนาจะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายทิพย์ย่อมไม่ได้เช่นกัน



2. การสมรส

การสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภริยากัน โดยไม่เกี่ยวข้องทางชู้สาวกับบุคคลอื่นใดอีก และถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมายคู่สมรสจะต้องจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานซึ่งเป็นนายทะเบียน ได้แก่ นายอำเภอ หรือผู้อำนายการเขต

2.1 หลักเกณฑ์การสมรส การสมรสจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการคือ

1) ในการสมรสนั้น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายและอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง บุคคลเพศเดียวกันจะสมรสกันไม่ได้

2) การสมรสจะต้องเป็นการการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายหญิงไม่ยินยอมสมรสกัน การสมรสนั้นเป็นโมฆะ

3) การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต

4) การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว คู่สมรสจะสมรสใหม่ไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่หย่าขาดจากคู่สมรสนั้น

2.2 เงื่อนไขแห่งการสมรส

1) ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีข้อยกเว้นว่าศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้หากมีเหตุอันสมควร

กรณีตัวอย่าง โชคอายุ 17 ปีบริบูรณ์ อ้อยอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ลักลอบได้เสียกันจนอ้อยเกิดตั้งครรภ์ กรณีนี้อ้อยอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สมรสได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งบุตรที่จะเกิดมา ถือว่าเหตุอันควร แต่ศาลจะอนุญาตหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล

2) ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ดีหรือศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ดี จำทำการสมรสไม่ได้ เพราะคนวิกลจริตเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบในการเป็นคู่ครองของกันและกัน ไม่สามารถใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของสามีภริยาได้

บุคคลวิกลจริต หมายถึง บุคคลผู้มีจิตผิดปกติซึ่งตามที่เข้าใจทั่วๆไปว่าเป็นคนบ้าและหมายความรวมถึงบุคคลที่มีอาการกิริยาผิดปกติเพราะสติวิปลาสคือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึกและขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวไม่สามารถประกอบอาชีพกิจการงานของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้

3) ชายหรือหญิงมิได้เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกันโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา

กรณีตัวอย่าง สิงห์ลักลอบได้เสียกับโฉมงามจนมีบุตรสาวด้วยกันคนหนึ่งชื่อ หวาน สิงห์ไม่ยอมรับว่าหวานเป็นบุตร และเขาได้ไปทำการสมรสกับแต๋ว ต่อมาแต๋วตาย สิงห์จึงเป็นหม้ายและสิงห์ได้มาพบรู้กับหวานและรู้สึกรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาว แต่ทั้งสิงห์และหวานจะทำการสมรสกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นญาติในทางสืบสายโลหิต โดยถือตามหลักความจริงถึงแม้ว่าสิงห์จะไม่ได้ยอมรับว่าหวานเป็นบุตรสาวตามกฎหมายของตนตั้งแต่แรกก็ตาม

4) ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบิดามารดาและบุตรต่อกัน การที่จะให้สมรสกันได้ย่อมเป็นการขัดต่อประเพณีและศีลธรรมดันดี

5) ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

6) ชายหญิงยอมเป็นสามีภริยากัน

7) หญิงที่เคยสมรสแล้วแต่สามีตาย หรือหย่าขาดจากสามีเดิมจะสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อเวลาไม่น้อยกว่า 310 วันได้ล่วงพ้นไปก่อน การที่กฎหมายวางข้อขีดขั้นสำหรับหญิงหม้ายดังกล่าวนั้น เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลำบากเกี่ยวกับเด็กที่เกิดมานั้น เป็นบุตรของสามีเดิมหรือสามีใหม่ มีข้อยกเว้นว่าหญิงคลอดบุตรระหว่างนั้น หรือสมรสกกับคู่สมรสเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์รับรองว่าหญิงไม่ได้มีครรภ์ หรือมีคำสั่งศาลให้สมรสได้

8) ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารด ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองซึ่งมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการหมั้นของผู้เยาว์

9) การสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรส เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ชายหญิงย่อมเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ถ้าทำพิธีสมรสกันเฉยๆ แต่ไม่จดทะเบียนสมรสก็ถือว่าไม่เป็นสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย


3. สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร

    นักเรียนทุกคนย่อมมีบิดามารดาด้วยกันทั้งนั้น จึงควรจะมีความรู้ในสิทธิหน้าที่ของตนอันพึงมีต่อบิดามารดา และสิทธิหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร จะได้รู้ว่าการกระทำใดบ้าง ที่ตนมีสิทธิจะกระทำได้ การกระทำใดบ้างที่เคยปฏิบัติไปแล้วไม่ถูกต้องจะได้ปรับปรุงแก้ไขสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมีดังนี้

1. บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา จะใช้ชื่อสกุลมารดาได้เมื่อไม่ปรากฏบิดา

2. บุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารด บิดามารดาจำต้องอุปการะให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์

3. บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้

4. บุตรฟ้องร้องบิดามารดของตนไม่ได้  บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน อำนาจปกครอง คือ บรรดาสิทธิทั้งหลาย ซึ่งกฎหมายมอบให้บิดามารดา ในอันที่จะใช้แก่บุตรผู้เยาว์และทรัพย์สินของผู้เยาว์ เพื่อที่จะคุ้มครองอุปการเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุสามารถครองชีพได้ด้วยตนเองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองจะอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวในกรณีดังต่อไปนี้

1) มารดาหรือบิดาตาย

2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

3) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

4) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิดังนี้

- กำหนดที่อยู่ให้บุตร

- ทำโทษบุตรพอสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

- ให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

       กรณีตัวอย่าง นางบานชื่นมีอาชีพค้าขายของชำมีบุตรชื่อดอกรัก อายุ 14 ปี มีบุตรสาวชื่อ บานเช้า อายุ 8 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียนหนังสือ ในวันเสาร์อาทิตย์ นางบานชื่นให้ดอกรักช่วยขายของหน้าร้านและให้บานเช้าช่วยถูบ้าน แสดงว่านางบานชื่นให้ลูกทำงานตามสมควรแก่ความสามารถเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่

- เรียกบุตรคืนจากผู้อื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

กรณีตัวอย่าง นางพลอยมีบุตรสาวชื่อแหวน แหวนไปเล่นที่บ้านนายนิลซึ่งบ้านอยู่ใกล้เคียงกัน นายนิลขอให้แหวนช่วยดูแลลูกชายคนเล็กของเขาเพราะคนเลี้ยงลูกของนายนิลไม่อยู่ นายนิลสั่งแหวนว่ายังไม่ให้กลับบ้าน นางพลอยมีสิทธิเรียกแหวนคืนจากนายนิลได้

- จัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง เช่นวิญญูชนพึงกระทำ

      กรณีตัวอย่าง เด็กหญิงน้ำเงินได้รับทุนการศึกษามาเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท นายเขียวและนางขาวผู้เป็นบิดามารดาจึงนำเงินจำนวนนั้นไปฝ่ายธนาคารไว้เพื่อความปลอดภัย แสดงว่านายเขียวและนางขาวได้จัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง

     ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองโดยศาล ศาลจะจัดตั้งให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้ โดยผู้ปกครองมีสิทธิหน้าที่คล้ายกับผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ปกครอง ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองผู้เยาว์ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง

4. การรับบุตรบุญธรรม

     นักเรียนบางคนอาจจะเป็นบุตรบุญธรรมของบิดามารดาบุญธรรม เนื่องจากเหตุต่างๆ หรือสมาชิกในครอบครัวบางคนไปเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น ดังนั้นจึงควรรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับบุตรธรรม ดังนี้

1. บุคคลที่จะรับบุตรบุญธรรมได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ผู้นั้นจะต้องให้ความยินยอมด้วย

        กรณีตัวอย่าง ดวงดาอายุ 32 ปี มีความประสงค์จะรับดวงใจซึ่งมีอายุ 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรม อายุของผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมครบตามหลักเกณฑ์เรื่องอายุก็จริง แต่จะต้องได้รับความสมัครใจยินยอมจากดวงใจด้วย

2. การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดา หรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าว หรือมีแต่บิดามารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนายินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอม ปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญ สวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดา หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมได้

3. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส

4. บุตรบุญธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ไม่สูญสิทธิหน้าที่ในครอบครัวที่ให้กำเนิดมา

5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรม

      กรณีตัวอย่าง เด็กชายแดงเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำ ต่อมานายดำสมรสกับนางสาวชมพู เด็กชายแดงจะเป็นบุตรบุญธรรมของนางชมพูก็ได้ เพราะถือว่าเป็นคู่สมรสของดำ

6. การับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย


5. การรับรองบุตร

       บุตรซึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของชาย กฎหมายเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตรได้ ซึ่งทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย และถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันจดทะเบียน ถ้าเป็นกรณีบุตรนอกสมรส แต่ต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็ไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรอีก


สรุปสาระสำคัญ

1. การหมั้น หมายถึง การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน เมื่อเกิดการหมั้นขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา คือ ไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้

2. ผู้เยาว์จะทำการหมั้น หรือสมรสกันได้เอมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง

3. การสมรสจะต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย

4. สิทธิและหน้าที่ของบุตร คือ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา จะใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ เมื่อไม่ปรากฏบิดา บุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรฟ้องบิดามารดาของตนไม่ได้

5. หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร คือ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ และจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้

6. บิดามารดามีสิทธิกำหนดที่อยู่ให้บุตร ทำโทษบุตรพอสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน และให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

7. บุคคลจะรับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

ข้อมูลจาก http://www.bp-smakom.org/bp_school/social/Law1/Law-Civil2.htm

คำศัพท์ทางกฎหมาย ดูคลิปคลิกที่นี่
นิติกรรมกับสัญญาเข้าใจง่าย ดูคลิปคลิกที่นี่
สัญญาซื้อขาย ดูคลิปคลิกที่นี่