วิชากฎหมายที่ประชาชนควรรู้

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา สพม.เขต 16

หน่วยการเรียนรู้ที่ 6

รัฐธรรมนูญ
ความหมาย
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะขัดแย้งไม่ได้ และเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพของประชาชน
     นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองต่าง ๆ แล้ว
จำนวน 18 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

 ความสำคัญ
การที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จึงเป็นหลักประกันว่าผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือออกกฎหมายใด ๆ ที่จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เป็นการคุ้มครองสิทธิ
เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นการจัดระเบียบทางการเมืองการปกครองต่าง ๆ และประชาชน
ในรัฐเพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเรียบร้อยในการปกครองประเทศ


 ประวัติรัฐธรรมนูญไทยโดยสรุป
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น จนถึงปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ

1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีส่วนอย่างสำคัญในการร่างถือเป็นธรรมนูญฉบับแรกและเป็นฉบับชั่วคราว ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอายุการประกาศและ บังคับใช้ 5 เดือน 13 วัน

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 13 ปี 5 เดือน ระหว่าง 13 ปี 5 เดือนนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศจาก“สยาม” เป็น “ไทย” ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น “รัฐธรรม-นูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไปด้วย

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2483 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาลซึ่งเสนอโดยขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาลซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นอย่างช้า ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่ง ผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 และยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร อันมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้ารวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 5 เดือน 28 วัน

4. รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอายุการประกาศและ บังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน ระหว่าง 1 ปี 4 เดือน 14 วันนี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้ พระบรมวงศานุวงศ์สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2491 แก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภา ร่างรัฐธรรมนูญและร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2491 แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิ์และคุ้มกัน เช่นเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 และยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยการ รัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้ารวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน

6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้ารวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอายุการประกาศและ บังคับใช้ 9 ปี 4 เดือน 20 วัน

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหารซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างยาวนาน ถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน แต่มีอายุในการประกาศและบังคับใช้เพียง 3 ปี 4 เดือน 27 วัน

9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอายุการประกาศและ บังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน

10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และยกเลิกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้ารวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี

11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิวัติ” ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นหัวหน้ารวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี

12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญ ฉบับใหม่ คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521” อันเป็นธรรมนูญฉบับที่ 13

13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 โดยผลจากข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาลที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2528

14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยได้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เป็นรัฐ-ธรรมนูญที่ตราขึ้นเพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 โดยมีการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการ แก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง 6 ฉบับรวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 ปี 10 เดือน 3 วัน

16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับฉบับที่สั้นที่สุดคือฉบับที่1 พระราชบัญญัติการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน ฉบับที่ยาวที่สุดคือฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 15 ปี 6 เดือน

17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน39 มาตรา โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้

18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตราช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ"

การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57.81%ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 42.19% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
 ข้อมูลจาก http://news.voicetv.co.th/thailand/25269.html 07:04:2012/21.45

  สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  คลิกที่นี่ครับ     หรือคลิกที่นี่ครับ

ประวัติรัฐธรรมนูญของไทย คลิกดูวีดิโอที่นี่      คลิกดูอีกคลิปนะครับ    คลิกดูอีกคลิปนะจ๊ะ
รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่