วิชากฎหมายที่ประชาชนควรรู้

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา สพม.เขต 16

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

                                       

ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
  1.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการ บัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น
  2.จารีตประเพณี
ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย
  3.หลักกฎหมายทั่วไป
ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้น
ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
   1.จารีตประเพณี
ถือ ว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ

   2.คำพิพากษาของศาล
จารีต ประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์ อักษร
   3.กฎหมายลายลักษณ์อักษร
ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาลบางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้าง กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย
   4.ความเห็นของนักนิติศาสตร์
ระบบ กฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้
   5.หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา
ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีซึ่งเรียกว่ามโนธรรม ของผู้พิพากษา(Squity)ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร



ระบบกฎหมายของโลก
ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law)
คำว่า “โรมาโน” หมายถึง กรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า “เยอรมันนิค” หมายถึง ชาวเยอรมัน การที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศอิตาลีและ ประเทศเยอรมัน เนื่องจาก อิตาลีเป็นประเทศแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาปรับใช้กับประเทศของ ตน โดยเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1110 ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น มีการค้าขายระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายในประเทศซึ่งมีอยู่เดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้บังคับกับ ข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นมาใช้ โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมืองโบลอกนา (Bologna) ปรากฏว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประเทศอิตาลีจึงได้รับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมาและ กฎหมายโรมันจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาทั่วไป
ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่สองที่ได้รับเอากฎหมาย โรมันมาใช้เช่นเดียวกันกับประเทศอิตาลี ต่อมาประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สเปน ได้นำกฎหมายโรมันมาปรับใช้กับประเทศของตนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศใน ภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโน-เยอร มันนิคทั้งสิ้น และประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยด้วย
 ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค  คือ
  • กฎหมายระบบนี้ถือว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีความสำคัญกว่าคำพิพากษาของศาล และจารีตประเพณี
  • กฎหมายระบบนี้  คำพิพากษาของศาลไม่ใช่ที่มาของกฎหมาย แต่เป็นเพียงบรรทัดฐานแบบอย่างของการตีความหรือการใช้กฎหมายของศาลเท่านั้น
  • การศึกษากฎหมาย ต้องเริ่มต้นจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ จะถือเอาคำพิพากษาศาล หรือความเห็นของนักกฎหมายเป็นหลักเช่นเดียวกับหลักกฎหมายไม่ได้
  • กฎหมายระบบนี้มีการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็น 2 สาย คือ กฎหมายเอกชนซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายเกษตร เป็นต้น และกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองของรัฐ เช่น กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายภาษีอากร เป็นต้น
  • ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมานิค (Romano Germanic) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบประมวลกฎหมาย  หรือ ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law)
ตัวอย่างของกฎหมายในยุคสมัยโรมัน (500 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ.540) ที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Tables Law) และประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code)

กฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Tables Law)
ได้เริ่มจัดทำขึ้นเมื่อปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช โดยรวบรวมกฎหมายที่มีความสำคัญและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น เข้าเป็นหมวดหมู่ในรูปของการจารึกไว้บนโต๊ะทองเหลือง เพื่อนำไปตั้งไว้ใกล้กับที่สาธารณะกลางเมือง กฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของสังคม โดยอาศัยจารีตประเพณีที่สั่งสมมาและศาสนาเป็นหลัก
สาเหตุการผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายสิบสองโต๊ะ เกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน 2 ชนชั้น คือ ฝ่าย Patricians ซึ่งเป็นชนชั้นสูงได้แก่พวกผู้ปกครองและข้าราชการชั้นสูง และฝ่าย Plebeians ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ได้แก่ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้าวานิช รวมทั้งเชลยศึก คนต่างด้าวและทาส ซึ่งในการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายหรือการชี้ขาดตัดสินคดีเป็นอำนาจของ Patricians ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พวก Plebeians ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบว่ากฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไร ได้มีการเรียกร้องให้นำกฎหมายเหล่านั้นมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร จนในราว 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงได้ทำการรวบรวมจารีตประเพณี ที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นบันทึกลงบนแผ่นทองเหลือง 12 แผ่น ตั้งไว้ในที่สาธารณะใจกลางเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของหลักการที่ว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งซึ่งเปิด เผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้
  • โต๊ะที่  1    โต๊ะที่  2 และ โต๊ะที่  3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี เช่น
    — ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลก่อนเที่ยงวัน ก็ให้ศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่มาศาลชนะคดี
    — ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดหาพยานไม่ได้ก็ให้ร้องตะโกนดังๆ ที่ประตูบ้านของตนเพื่อแสวงหาพยาน
    — ในคดีที่จำเลยยอมรับใช้หนี้สินหรือในคดีที่ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ก็ให้จำเลยชำระเงินภายใน 30 วัน
  • โต๊ะที่  4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าครอบครัว เช่น
    — บิดาระหว่างที่มีชีวิตมีอำนาจเด็ดขาดเหนือบุตรอันชอบด้วยกฎหมาย บิดาอาจกักขังบุตรหรือเฆี่ยนตีหรือล่ามโซ่ ให้ทำงานหรือมีเหตุไม่ชอบใจจะฆ่าบุตรเสียก็ได้ ตลอดจนจะเอาบุตรไปขายเสียก็ได้
     — ทารกคลอดออกมารูปร่างผิดปกติมากจะเอาไปฆ่าเสียก็ได้
  • โต๊ะที่  5 โต๊ะที่  6   และ โต๊ะที่  7  เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรดก และทรัพย์สิน เช่น
    — ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตายลงโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ให้ญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อไป
    — ถ้าชายอิสระตายลงโดยไม่มีผู้สืบสันดาน (ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน) ให้ทรัพย์สินของชายคนนั้นตกแก่ผู้อุปถัมภ์
    — ผลไม้หล่นตกไปในบ้านของผู้อื่น เจ้าของต้นผลไม้ยังคงเป็นเจ้าของผลไม้นั้นอยู่
  • โต๊ะที่  8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา เช่น
    — ผู้ใดทำการโฆษณาหมิ่นประมาทว่าเขาทำผิดทางอาญาหรือทางลามกอนาจาร ให้เอาผู้นั้นไปตีเสียให้ตาย
    — ผู้ใดลักทรัพย์เวลาค่ำคืน ให้เอาไปฆ่าเสีย
    — ผู้ใดวางเพลิงบ้านเรือนเขาหรือกองข้าวสาลีของเขา ให้เอามาผูกแล้วเฆี่ยนและเผาเสียทั้งเป็น แต่ถ้าเกิดขึ้นด้วยความประมาท ให้เสียเงินค่าทำขวัญแล้วลงโทษพอควร
    — สัตว์สี่เท้าของผู้ใดเข้าไปทำให้ที่ดินเขาเสียหาย เขาจับยึดตัวสัตว์นั้นไว้เป็นของเขาได้ เว้นแต่เจ้าของสัตว์จะเสียเงินค่าไถ่ถอนกลับคืนมาตามราคาค่าเสียหาย
  • โต๊ะที่  9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของรัฐ เช่น
    — กฎหมายใดๆ จะก่อให้เป็นแต่ทางเสียหายอย่างเดียวแก่เอกชนนั้นห้ามไม่ให้มีผลบังคับใช้
    — รัฐสภาเท่านั้นที่มีอำนาจออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนถึงสถานะของบุคคลได้
  • โต๊ะที่  10 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของศาสนา เช่น
    — ห้ามไม่ให้ฝังหรือเผาศพในเขตพระนคร
    — ห้ามมิให้หญิงขีดข่วนแก้ม ร้องไห้เกรียวกราวในงานศพ
  • โต๊ะที่  11 และ โต๊ะที่  12 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มเติม เช่น
    — ห้ามมิให้บุคคลต่างชั้นวรรณะทำการสมรสกัน
    — เมื่อทาสทำการลักทรัพย์ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เขา นายทาสต้องรับชดใช้ค่าเสียหายหรือส่งมอบตัวทาสให้เขาไป
    — กฎหมายที่ออกมาภายหลังย่อมยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีข้อความขัดแย้งกัน  
    ประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code)
    เป็นกฎหมายของโรมันที่จัดทำขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ.528 โดยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เพื่อรวบรวมกฎหมายโรมันให้มีลักษณะเป็นหมวดหมู่ยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการ ศึกษาจดจำ ได้ตัดข้อความเกี่ยวกับศาสนาและสิ่งที่ไม่เป็นสาระออกเพื่อให้มีแต่หลัก สำคัญ และเรียกประมวลกฎหมายฉบับนี้ว่า “ประมวลกฎหมายจัสติเนียน หรือ คอร์ปัส จูริส ซิวิลิส” (Corpus Juris Civilis) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายของประเทศต่างๆ ในยุโรประยะหลังๆ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีความแน่นอนเป็นหลักเป็นฐาน เนื่องจากได้จัดทำเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรทำให้สามารถยึดถือเป็นแบบอย่าง ได้ และยังสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงเป็นประมวลกฎหมายที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบของหลักกฎหมายและแนวความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายของประเทศต่างๆ ในระยะหลังต่อ มาจนถึงในปัจจุบัน

    จักรพรรดิจัสติเนียน (The Justinian) ได้ทรงโปรดให้มีการรวบรวมเอาจารีตประเพณีและกฎหมายของพวกโรมันที่มีการร่าง เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นแล้วมารวบรวมไว้เป็นเล่มอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วนคือ
  • ส่วนที่ 1  เรียกว่า Codex (โคเด็กซ์) คือประมวลกฎหมายโรมัน มีทั้งหมด 12 หมวด จักรพรรดิ์จัสติเนียนได้มอบหมายให้รัฐมนตรี 10 คน ทำการร่างโดยมีการยกร่างเอากฎหมายเก่าๆ ของพวกโรมันมาชำระสะสาง กฎหมายใดไม่ทันสมัยก็ตัดทิ้งไปเอากฎหมายทันสมัยมาใส่แทนเป็นประมวลกฎหมาย เสร็จในราวปี ค.ศ. 529
  • ส่วนที่ 2  เรียกว่า Digest (ไดเจสท์) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของประมวลกฎหมาย จัสติเนียน จักรพรรดิจัสติเนียนได้มอบหมายให้ทรีบอเนียน (Tribonian) ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งศึกษาข้อเขียนของกฎหมายโรมันรุ่นเก่าๆ และพยายามสกัดเอาหลักกฎหมายมาจากพวกข้อเขียน ตำรา และเอามารวบรวม มีการอธิบาย มีการวางหลักกฎหมาย การตีความ รวบรวมไว้ทั้งหมด 50 หมวด ประกอบด้วย 150,000 บรรทัด รวบรวมหลักกฎหมายที่สกัดไว้ถึง 9,123  หลัก เสร็จในราวปี ค.ศ.530 กฎหมายส่วนที่เรียกว่า Digest นี้เอง ตอนหลังมีการค้นพบในทางตอนเหนือของอิตาลีและประเทศต่างๆ นำไปศึกษาค้นคว้าปรับปรุงกฎหมายของประเทศตนเอง
  • ส่วนที่ 3 เรียกว่า Novel (โนเวล) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนและกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลัง ที่มีประมวลกฎหมายโรมันแล้วเป็นการแก้ไขส่วนที่เรียกว่า Codex ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อยู่ในระหว่าง ค.ศ.534 – ค.ศ.565
  • ส่วนที่ 4 เรียกว่า Institute (อินสติติวท์) เป็นตำราวางพื้นฐานที่จะเริ่มต้นศึกษากฎหมายในสมัยโรมัน จัดพิมพ์ในปี ค.ศ.533 แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ “Persona” ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในฐานะต่างๆ ในสังคม “Res” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน “Actio” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาคดี
 ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law)
ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้นมีต้นแบบมาจากประเทศ อังกฤษ ซึ่งเดิมก่อนศตวรรษที่ 11ประเทศอังกฤษยังไม่เป็นปึกแผ่นโดยแบ่งการปกครองเป็นตามแคว้นหรือเผ่าของตน เอง มีระบบกฎหมายและระบบศาลตามเผ่าของตนเองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 10-15 พระเจ้าวิลเลี่ยม ดยุคแห่งแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ายึดครองเกาะอังกฤษหลังจาก การสู้รบกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยผลัดกันยกกองทัพไปรบ การรบครั้งแรกก็ไม่ได้ชัยชนะ
ต่อมาก็บุกเข้าไปยึดครองอังกฤษได้ เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในอังกฤษยอมสวามิภักดิ์และยอมอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าวิลเลี่ยมหรือดยุค แห่งนอร์มังดี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมและปกครองเกาะอังกฤษให้เป็นอันหนึ่งอัน เดียวกันภายใต้การนำของดยุคแห่งนอร์มังดี อังกฤษจึงเป็นปึกแผ่นครั้งแรกตามประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามการปกครองในครั้งนั้นพระเจ้าวิ ลเลี่ยมมิได้เลิกอำนาจของหัวหน้าเผ่าหรือนำวัฒนธรรม อารยธรรมของนอร์มังดีเข้าไปใช้ในเกาะอังกฤษ แต่ใช้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ของยุโรปภาคพื้นทวีปผสมผสานไปกับระบบที่เป็น อยู่ของเผ่าต่าง ๆ บนเกาะอังกฤษโดยทรงถือว่าพระองค์เป็นเจ้าของราชอาณาจักรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วแบ่งดินแดนต่าง ๆ ให้กับขุนนางและยอมรับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ของอังกฤษที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์เป็นขุนนางของพระองค์ ดังนั้นระบบศักดินาสวามิภักดิ์จึงเข้าไปฝังรากในอังกฤษด้วยพระเจ้าวิลเลี่ยม เป็นกษัตริย์ มีขุนนางปกครองแคว้นต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปจากแคว้นนอร์มังดี เป็นการตอบแทนที่ทำสงครามชนะ อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรดาหัวหน้าเผ่าที่ยอมสวามิภักดิ์  การใช้กฎหมายต่าง ๆ ใช้กฎหมายชนเผ่าต่อไปตามเดิม
ต่อมาพระเจ้าวิลเลี่ยมเห็นความจำเป็นว่าถ้าจะทำ ให้การปกครองเป็นเอกภาพเป็นปึกแผ่นและอำนาจของพระองค์เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีกฎหมายที่เหมือนกันใช้ร่วมกันทั้งประเทศหรือทั่ว ทั้งราชอาณาจักร ถ้าปล่อยให้แต่ละแคว้นมีระบบกฎหมาย ระบบการบริหาร ระบบตัดสินคดีความของตัวเองแตกต่างกันไปหมด การที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นย่อมจะเป็นไปไม่ได้ การที่จะทำให้สังคมชาติมีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นรัฐที่มีการจัดระเบียบที่ดีจะต้องทำอยู่ 2 อย่าง คือ การจัดระบบกฎหมายเสียใหม่ทั้งรัฐให้เหมือนกัน และจัดระบบการปกครองที่ทำให้อำนาจนั้นมีเอกภาพ ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) ขึ้น
กฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) เป็นกฎหมายที่วิวัฒนาการมาจากคำพิพากษาของศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) อันเนื่องมาจากเดิมการพิจารณาคดีของศาลในแคว้นต่างๆ มีการพิจารณาคดีตามจารีตประเพณีของแคว้นหรือชนเผ่าตนเอง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการกระทำความผิดหรือมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิด ขึ้นต่างแคว้นกัน ศาลในแต่ละแคว้นตัดสินแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) โดยมีการคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความสามารถจากส่วนกลางหมุนเวียนออกไปพิจารณาคดีในศาลท้องถิ่นทั่วทุกแคว้น มีการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) แทนการพิจารณาคดีแบบเดิม โดยถือว่าเมื่อศาลหลวงมีคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอย่างใดแล้วศาลอื่น ๆ ต้องผูกพันพิพากษาคดีตามศาลหลวง ซึ่งในระยะต้น ๆ มีปัญหาขัดแย้งในการพิพากษาคดีมาก เพราะแต่ละแคว้นก็มีจารีตประเพณีเป็นของตนเอง การใช้กฎหมายบังคับจึงต้องใช้กฎหมายจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ในระยะต่อมาความขัดแย้งเหล่านี้ค่อย ๆ หมดไปเกิดเป็นจารีตประเพณีที่ถือเป็นหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่มีลักษณะเป็น สามัญ (Common) และใช้กันทั่วไปในศาลทุกแคว้น ด้วยเหตุนี้กฎหมายคอมมอน ลอว์ จึงเริ่มเกิดขึ้นประเทศอังกฤษนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เนื่องจากจารีตประเพณีที่ใช้บังคับมิได้มีการ บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลจึงเป็นผู้ที่นำจารีตประเพณีมาใช้และพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาศัยประเพณี ดังกล่าว คำพิพากษาศาลได้มีการบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ผู้พิพากษาคนต่อ ๆ มาใช้เป็นแบบอย่าง (Precedent) กล่าวคือ เมื่อศาลใดได้วินิจฉัยปัญหาใดไว้ครั้งหนึ่งแล้วศาลต่อ ๆ มาซึ่งพิจารณาคดี ซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันย่อมต้องผูกพันในอันที่จะต้องพิพากษาตาม คำพิพากษาก่อน ๆ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างนั้นด้วยคำพิพากษาของศาลจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอย่าง หนึ่ง
                              
แม้ว่าศาลจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศแล้วก็ ตามแต่กฎหมายคอมมอน ลอว์ ก็ยังมีช่องว่างและไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ทุกเรื่อง อันเนื่องจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและความซับซ้อนของเศรษฐกิจ คำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ไม่อาจใช้บังคับกับข้อเท็จจริงบางเรื่องได้ส่งผล ให้ไม่อาจจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้
ครั้นต่อมาเมื่อรัฐสภาอังกฤษมีอำนาจมากขึ้น ได้มีการตรากฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law) ขึ้นใช้บังคับอย่างแพร่หลาย โดยถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องและเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอน ลอว์ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ระบบคอมมอน ลอว์ ปัจจุบันมีที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  และประเทศที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของอังกฤษ เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ คือ
  • คำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ศาลต้องผูกพันพิพากษาคดีตามแนวคำพิพากษาที่ได้มีมาแต่เดิม ตามหลัก “ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน”
  • คำพิพากษาของศาลมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายลาย ลักษณ์อักษร กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอนลอว์ ในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
  • การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากการศึกษาคำพิพากษาของศาลที่มีมาแต่เดิมเป็นหลัก
  • มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ
  • ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบกฎหมายจารีตประเพณี

ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law)

       ระบบกฎหมายสังคมนิยมเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติ ครั้งใหญ่ในประเทศรัสเซีย เมื่อ ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)  ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศรัสเซียมีกฎหมายจัดอยู่ในระบบกฎหมายโรมาโน– เยอรมันนิค หรือระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่หลังจากการปฏิวัติและพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าครองอำนาจการบริหารประเทศ แล้ว ระบบกฎหมายของประเทศ รัสเซียก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไป กฎหมายของประเทศรัสเซียในยุคหลังการปฎิวัตินี้ แม้จะมีรูปแบบเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่โดยเนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายก็ดี กระบวนการยุติธรรมที่จะบังคับใช้กฎหมายก็ล้วนแต่นำเอาหลักการใหม่ตามแนวคิด ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และเลนิน (Lenin) มาใช้ทั้งสิ้น
ระบบกฎหมายนี้เชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการ จัดระเบียบและกลไกต่างๆ ของสังคม เพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในสังคมและเพื่อคุ้มครองคนในสังคม ให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงของนายทุน กฎหมายจะมีความจำเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเมื่อสังคมเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์โดย สมบูรณ์ปราศจากความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ปราศจากชนชั้น โดยประชาชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งมวลร่วมกันแล้ว กฎหมายจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแต่เมื่อยังไม่ถึงจุดนี้ความจำเป็นของ กฎหมายจะยังคงมีอยู่ ในปัจจุบันระบบกฎหมายสังคมนิยมมีใช้อยู่ในประเทศรัสเซีย คิวบา เกาหลีเหนือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา จีนและประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย บัลแกเรีย ฮังการี เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายสังคมนิยม มีดังนี้
  • กฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดในประเทศสังคมนิยม ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทั้งที่เป็นกฎหมายแม่บทและกฎหมายในลำดับรองทั้งปวง กฎหมายลายลักษณ์อักษรมักจะใช้ถ้อยคำสามารถแปลความหมายหรือตีความได้ อย่างกว้างขวางและปล่อยทิ้งปัญหาต่าง ๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ดังนั้นกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับหลักปฏิบัติในการปกครองจึงมีความสำคัญไม่ ยิ่งหย่อนกว่ากัน
  • จารีตประเพณี มีบทบาทในการเป็นเครื่องมือช่วยตีความหมายและอุดช่องว่างของกฎหมายในกรณีที่ ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้โดยชัดเจน อย่างไรก็ดีจารีตประเพณีที่นำมาใช้ได้นั้นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเพราะตัวบท กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมักเขียนไว้กว้าง ๆ ประกอบกับศาลก็มีดุลพินิจในการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว
  • หลักการและแนวความคิดของมาร์กซ์และเลนิน ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของการปกครองในระบบสังคมนิยม แนวความคิดและหลักการเหล่านี้ศาลหรือผู้พิพากษามักจะกล่าวอ้างอิงถึงข้อ เขียนหรือแนวความคิดของมาร์กซ์และเลนินมาประกอบคำตัดสินเสมอ
                         

ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม (Religious and Traditional Law)

        ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม หมายถึง กลุ่มกฎหมายที่เกิดขึ้นและพัฒนามาจากคำสอนในทางศาสนา เช่น หลักธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ หรือพัฒนามาจากคำสอนของนักปราชญ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ ซึ่งจะมุ่งสอนการดำเนินวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในสังคมมากกว่าจะตั้งเป็น กฎหมายของรัฐ แต่ในที่สุดหลักธรรมคำสอนเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนกลายเป็น กฎหมายของรัฐ นักกฎหมายเองเมื่อกล่าวถึงระบบกฎหมายนี้ในบางครั้งก็เรียกว่าระบบกฎหมาย ศาสนา บางครั้งก็เรียกว่าระบบกฎหมายปรัชญา และบางครั้งก็เรียกว่าระบบกฎหมายประเพณีนิยม
ลักษณะสำคัญของระบบกฎหมายนี้ คือไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้ตราขึ้น ทั้งไม่ให้ความสำคัญว่าจะต้องจัดทำกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่โดยอัน ที่จริงแล้วไม่สนใจกับ “กฎหมาย” ในความหมายทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ เพราะถือว่าในหลักธรรมคำสอนที่มีอยู่สามารถค้นหาได้ทุกอย่างรวมทั้งกฎเกณฑ์ ความประพฤติของมนุษย์นำมาใช้ได้อย่างกฎหมายอยู่แล้วไม่ว่าในทางอาญา ในทางปกครองหรือในทางแพ่งว่าด้วยสัญญา บุคคล ครอบครัว มรดกหรือทรัพย์สินก็ตาม บทกำหนดโทษก็มีอยู่แล้วตามหลักธรรมคำสอนนั้น ซึ่งอาจเป็นโทษที่จัดการบังคับได้ในปัจจุบันและภายหลังที่ผู้กระทำความผิด ตายแล้ว
      คำว่า “ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม” เป็นคำกลาง ๆ ตั้งขึ้นเพื่อเรียกกฎหมายหลายอย่างที่ไม่อาจจัดเข้าไว้ในระบบกฎหมายโรมันโน – เยอรมันนิค คอมมอน ลอว์ หรือสังคมนิยมได้ แต่กฎหมายเหล่านี้ก็แตกต่างกันเอง จะมีความเกี่ยวข้องกันบ้างก็เพียงว่ามีที่มาจากหลักธรรมคำสอนเช่นเดียวกัน เท่านั้น ได้แก่ กฎหมายมุสลิมหรืออิสลาม ซึ่งก็มีอยู่หลายพวกเช่นกันแต่ต่างก็นับถือหลักธรรมในคัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ซุนนะห์ คัมภีร์อัล-อิจญ์มาอ์ คัมภีร์อัล-กิยาส เป็นต้น กฎหมายนี้มีใช้อยู่ในประเทศตะวันออกกลางและบางเรื่องในมาเลเซียและประเทศใน แอฟริกา นอกจากนี้กฎหมายฮินดูซึ่งหมายถึง กฎหมายจากเทวโองการของพระเจ้าหรือที่นักปราชญ์เรียบเรียงขึ้น ศรุติ สมฤติ ธรรมะ พระธรรมศาสตร์ เป็นต้น กฎหมายนี้มีอยู่ในบางประเทศและในกฎหมายบางเรื่องของอินเดีย และบางเรื่องก็มีอิทธิพลต่อกฎหมายโบราณของลาว กัมพูชา และไทยเป็นต้น
ส่วนประเพณีนิยมก็มีอิทธิพลต่อกฎหมายของหลาย ประเทศเนื่องจากศาสนามีความใกล้เคียงกับประเพณีนิยม จึงสามารถจัดไว้ในระบบกฎหมายเดียวกัน คำว่า ประเพณีนิยม (Tradition) หมายถึง ความเชื่อถือในหลักการปฏิบัติ เกี่ยวกับการดำเนินวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคม ตลอดจนจรรยามารยาทต่าง ๆ หรือจะถือว่าเป็นวินัยในสังคม เช่น ประเพณีนิยมของขงจื้อ เล่าจื๊อ เม่งจื๊อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวจีนในสมัยโบราณ ข้อปฏิบัติที่นักปราชญ์จีนเหล่านี้กำหนดกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ใช้ กันในชีวิตประจำวันของชาวจีน เช่น ความจงรักษ์ภักดีต่อกษัตริย์ ความสามัคคี การร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การประนีประนอม การหลีกเลี่ยงการเป็นคดีความในศาลโดยใช้วิธีตกลงกันนอกศาลแทน เป็นต้น เมื่อจีนต้องแยกเป็นจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวัน ตลอดจนการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเด็ดขาด และการปฏิวัติวัฒนธรรมในเวลาต่อมา ประเพณีนิยมเหล่านี้เสื่อมลงไปมากจนแทบหมดไปในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ยังปรากฏอยู่บ้างในจีนไต้หวันและยังคงมีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความไต้หวันอยู่บ้าง
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายมีพื้นฐานมาจากศาสนา จนมีคำกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย ศาสนาที่มีความสำคัญ คือ 

ศาสนาอิสลาม
 

       ศาสนาอิสลามมีหลักการสอนให้มีความเชื่อว่า อัลลอฮ์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวในสากลจักรวาล เป็นผู้สร้างโลกมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมอยู่ใต้อำนาจบันดาลของพระองค์ทั้งสิ้น มีท่านนบีมูฮำมัด เป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลามและเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ให้มาประกาศสั่งสอนหลักธรรมแก่มนุษย์โลก ดังที่ปรากฏข้อความในพระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอาน ซึ่งถือว่าเป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม
กฎหมายอิสลามมีแหล่งกำเนิดที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียในสมัยที่ท่านนบีมูฮำมัดได้ทรงประกาศศาสนาและเป็นผู้ ปกครองประเทศ ต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ที่มีมุสลิมซึ่งถือหลักในการพิจารณากระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวกับความเป็น อยู่ของครอบครัว และการแบ่งปันมรดกของชนชาวมุสลิม
กฎหมายอิสลามมีที่มาจากหลักฐานทางศาสนาที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ
  • พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ถือว่าเป็นพระอธิเทวราชโองการของอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมูฮำมัด ต่างกรรมต่างวาระที่พระองค์เห็นสมควรปรากฏว่าภายหลังจากที่ท่านนบีมูฮำมัด ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ได้มีการรวบรวมจากที่กระจัดกระจายอยู่ตามบันทึกที่มีการจดเป็นตัวอักษรไว้ใน ปาล์มบ้าง หนังสัตว์บ้าง ตลอดถึงการจดจำของบรรดาผู้ใกล้ชิด และผู้เป็นสาวกนำมาเรียงลำดับก่อนหลังจนครบถ้วนบริบูรณ์รวมทั้งสิ้น 30 ภาค มี 114 บท จำนวน 6,000 กว่าโองการ จึงนับได้ว่าเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามอันดับแรกที่สำคัญที่สุด
  • พระคัมภีร์อัล-หะดีษ คือข้อบัญญัติจากการกระทำหรือปฏิบัติต่างๆ และ พระวัจนพจน์ ตลอดถึงการวินิจฉัยข้อปัญหากฎหมายบางเรื่องบางอย่าง รวมทั้งการดำเนินตามวิถีทางความเป็นอยู่ทุกอิริยาบถของท่านนบีมูฮำมัด ซึ่งได้มีการบันทึกและจดจำโดยผู้ใกล้ชิดและบรรดาสาวกทั้งหลาย เก็บรักษาไว้เป็นหลักการทางศาสนาและปฏิบัติกันตลอดมาที่เรียกว่า “ซุนนะห์”
  • อัล – อิจญ์มาอ์  คือมติธรรมของปวงปราชญ์ซึ่งเป็นความเห็นอันเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายอิสลาม ที่สอดคล้องต้องกันของนักนิติศาสตร์ฝ่ายศาสนาอิสลามผู้ซึ่งเป็นสาวกของท่าน นบีมูฮำมัด ในกรณีที่ไม่มีข้อความอันใดปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน หรืออัล – หะดีษ ที่จะยกมาปรับกับปัญหาที่มีขึ้น
  • อัล – กิยาส   คือการเปรียบเทียบโดยอาศัยเหตุผลที่ต่อเนื่องด้วยหลักการแห่งที่มาของ กฎหมายอิสลามทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น แต่ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสังคมมุสลิม จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการให้เหตุผลโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับตัวบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงและไม่ขัดกับหลักการอันเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 3 ข้อที่กล่าวแล้วด้วย หรือถ้าหากยังไม่สามารถกระทำได้ก็ให้ดำเนินการวินิจฉัยตามหลักธรรม การปฏิบัติศาสนกิจหรือตามประเพณีนิยมทั่วไปที่ไม่ขัดกับหลักธรรมหรือ จริยธรรมของอิสลาม
ศาสนาคริสต์
กฎหมายศาสนาคริสต์มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาคริสต์โดยตรง หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ประมาณปี ค.ศ. 440-461 พระสันตะปาปาเลโอที่ 1 ได้สร้างศูนย์รวมของอำนาจของ ศาสนจักรขึ้นที่นครวาติกัน ทำให้ศาสนาคริสต์เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น พระสันตะปาปาทรงออกสมณโองการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนของศาสนิกชนที่ดี โดยถือว่าสมณโองการนั้นเป็นกฎหมายศาสนา (Canon law) และกฎหมายของฝ่ายบ้านเมืองจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายศาสนาไม่ได้ดังที่นักบุญโท มัส อไควนัส ได้กล่าวว่า “ในบรรดากฎหมายที่ใช้แก่มนุษย์นั้น กฎหมายฝ่ายบ้านเมืองมีความสำคัญต่ำสุด แต่กฎหมายที่อยู่สูงขึ้นไปเรียกว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์” คำกล่าวนี้เองทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสามารถแสวงหาความยุติธรรมจากกฎหมายศาสนา ได้ดีกว่ากฎหมายบ้านเมือง

เมื่อคริสต์ศาสนาเจริญถึงขีดสุด โดยเข้าควบคุมฝ่ายอาณาจักรไว้ได้ ฝ่ายศาสนาสามารถบงการให้ฝ่ายอาณาจักรออกกฎหมายทำตามความประสงค์ของตนได้ ทุกอย่าง รวมไปถึงการสั่งให้คนพลีชีพเพื่อศาสนาได้ด้วย เหตุนี้เองทำให้ศาสนาคริสต์เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วโดยการทำสงครามเผยแพร่ ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามศาสนา ที่สร้างความเสื่อมให้แก่ศาสนาคริสต์จนเกิดการแตกแยกเป็นศาสนาคริสต์นิกาย ต่าง ๆ ทำให้ฝ่ายอาณาจักรแยกตัวออกไปเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อศาสนจักร สงครามศาสนาที่เกิดขึ้นคือสงครามครูเสดกินเวลา 196 ปี โดยมีสงครามยืดเยื้อเป็นช่วงๆ รวม 7 ครั้ง จนมีผู้เรียกว่า สงครามศาสนา 200 ปี ซึ่งมีสาเหตุจากพระสันตะปาปาในฐานะทรงเป็นผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการ ปกครองมีบัญชาให้กษัตริย์หรือเจ้าผู้ทรงครองนครในยุโรปซึ่งนับถือศาสนา คริสต์ยกกองทัพไปปราบพวกนอกศาสนาในปาเลสไตน์ จนกลายเป็นสงครามระหว่างพวกนับถือศาสนาคริสต์ทั่วยุโรป กลางกับพวกมุสลิม ผลของสงครามนี้ทำให้ชาวคริสต์เกิดความเบื่อหน่ายและเริ่มกระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟังคำบัญชาของพระสันตะปาปา มีการริดรอนอำนาจของศาสนาลง เมื่อผู้นับถือศาสนามีความคิดเห็นไม่ตรงกันศาสนาคริสต์จึงแตกเป็นนิกายต่าง ๆ ได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์ นิกายออร์ธอดอกซ์ นิกายเชิร์ทออฟอิงแลนด์
ปัจจุบันศาสนาคริสต์มิได้มีอิทธิพลเข้าไปเป็นส่วน หนึ่งของกฎหมายเหมือนดังเช่นศาสนาอิสลาม แต่แนวความคิดของศาสนาคริสต์ก็ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของต่างประเทศ ที่นับถือคริสต์ศาสนา เช่น ข้อกำหนดห้ามหย่า การห้ามคุมกำเนิด การห้ามทำแท้ง การห้ามสมรสซ้อน (Bigamy) เป็นต้น
ศาสนาฮินดู
กฎหมายศาสนาที่มีความสำคัญอย่างมากอีกศาสนาหนึ่งคือศาสนาฮินดู เมื่อกล่าวถึงกฎหมายฮินดู หมายความถึงลัทธิกฎหมายที่ชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าในประเทศอินเดียหรือประเทศอื่นๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย กัมพูชา ลาว ได้ยอมรับนับถือและนำมาใช้เป็นกฎหมายในดินแดนของตน

หลักการที่แท้จริงของลัทธิฮินดูได้แก่การสอนให้ รู้จักวิธีการครองชีวิตและความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และได้ถ่ายทอดคำสั่งนี้โดยผู้รู้ทั้งหลายซึ่งอ้างว่าเป็นเทวบัญชาของพระผู้ เป็นเจ้า ตั้งแต่ประมาณ 1,500 - 600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ 2,570 – 3,740 ปี มาแล้ว จึงนับว่าเป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาก
กฎหมายฮินดู มีที่มา 4 ประการคือ
  • ศรุติ (srutis) ได้แก่หลักการในศาสนาฮินดู ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่    พระเวท เวทางค์ และอุปนิษัท โดยได้เกิดขึ้นประมาณ 2,570 – 3,470 ปีมาแล้ว ในคัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแล้ว ยังประกอบไปด้วยบทบัญญัติทางอภิปรัชญาพิธีการทางศาสนา วิชาโหราศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นหลักการสำคัญขั้นมูลฐานที่จำเป็นแก่มนุษย์
  • ศาสตร์ (Sastras) หรือสมฤติ (Smritis) บางตำราเรียกว่าพระราชศาสตร์หรือสาขาคดี ได้แก่บทบัญญัติที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นเพื่อประกอบกับพระธรรม ศาสตร์ ศาสตร์ดังกล่าวนี้ได้บรรยายถึงวิธีการดำรงชีวิตและศิลปะการปกครองของ กษัตริย์ทั้งด้านการทหารและการเมือง รวมทั้งศาสตร์ที่เรียกว่ากามคุณ ได้แก่สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขอันรู้แจ้งด้วยจักษุ ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย
  • ธรรมะ (Dharma) ได้แก่บทบัญญัติซึ่งกำหนดถึงหน้าที่ ซึ่งผู้นับถือศาสนาฮินดูทั้งหลายจะต้องปฏิบัติธรรมะนี้ได้กำหนดไว้เฉพาะ หน้าที่เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดถึงสิทธิด้วย หน้าที่ที่กำหนดไว้ นี้จะแตกต่างกันไปตามฐานะและสภาพของบุคคล รวมทั้งอายุด้วย แม้แต่กษัตริย์เองก็ต้องปฏิบัติตามธรรมะในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ด้วย
  • พระธรรมศาสตร์ (Dharmasastras) และนิพนธ์ (Nibandhas) ธรรมะดังที่กล่าวมาแล้วจะพบอยู่ในตำรากฎหมายซึ่งเรียกว่า ธรรมศาสตร์ และในบทวิจารณ์ของธรรมศาสตร์ซึ่งเรียกว่า นิพนธ์ ธรรมศาสตร์ที่ปรากฏมีอยู่หลายฉบับแต่ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ฉบับของ มนู ซึ่งชาวตะวันตกนิยมเรียกว่า Manu Code แต่ประเทศไทยเรียกว่าคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของพระมโนสาราจารย์ สำหรับนิพนธ์นั้น มีประโยชน์เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมศาสตร์ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อความในธรรมศาสตร์คลุมเครือไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกันระหว่างธรรมศาสตร์ฉบับต่าง ๆ

ข้อมูลเรื่องระบบกฎหมายของโลกจาก http://www.baanjomyut.com/library/global_community/05_2_1.html สืบค้น 06:04:2012/0.03